วิกฤติฝุ่น PM2.5 ที่กลับมาในช่วงเวลาเดิมของทุกปี ล่าสุดพบพื้นที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานใน 53 จังหวัด ในทุกภูมิภาคของประเทศ และคาดว่าสถานการณ์ปีนี้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่นละอองมีค่าสูงเกินมาตรฐานที่เกิดขึ้นเป็นประจำนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน และมีแนวโน้มขยายตัวเป็นปัญหาสำคัญในระดับภูมิภาค เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติให้การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนธ.ค.- ก.พ. ของทุกปีเป็นช่วงที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานเข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากโรงงานอุตสาหกรรม การจราจร สภาพอากาศปิด และการเผาในพื้นที่โล่ง
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมความพร้อมรับมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตามแหล่งที่มา ประกอบด้วย ส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม มีการกำกับดูแลการระบายอากาศเสียตามภายใต้กฎหมาย โดยการกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยของเสียของโรงงาน ซึ่งหากสุ่มตรวจพบเกินค่า กรอ. จะมีการสั่งปรับและออกคำสั่งแก้ไขทันที
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนต.ค. 2565 กรอ. ได้ส่งหนังสือกำชับไปยังโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้และมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ โรงงานที่มีหม้อน้ำ มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานแอสฟัลติก (ยางมะตอย) ให้ดูแลระบบบำบัดมลพิษอย่างเข้มงวด หากตรวจพบ จะให้สั่งปรับปรุงแก้ไขหรือหยุดประกอบกิจการทันที แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 260 โรงงาน โรงงานในเขตปริมณฑล (สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี) จำนวน 636 โรง
"ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2562-2563 เคยมีการตรวจพบโรงงานที่ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานและได้ดำเนินคดีกับโรงงานดังกล่าว อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา เมื่อเริ่มเข้าฤดูกาล PM2.5 กรอ. ตรวจไม่พบโรงงานในกำกับดูแลที่กระทำผิด"
นอกจากนี้ เมื่อกลางปี 2565 กรอ. ได้ออกกฎหมายให้โรงงานต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ (CEMS) เพื่อติดตามข้อมูลการระบายมลพิษอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และให้โรงงานส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกลแสดงผลบนเว็บไซต์ของ กรอ. เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามการระบายมลพิษอากาศของโรงงานได้ตลอดเวลา
ขณะที่ฝุ่นที่เกิดจากภาคการขนส่ง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะมีการกำหนดมาตรฐานยูโร 5 เป็นมาตรฐานบังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือกับผู้ผลิตน้ำมันภาคเอกชนในการผสมน้ำมันซัลเฟอร์ต่ำเพื่อขายเฉพาะในพื้นที่กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่วิกฤติ
สำหรับฝุ่นที่เกิดจากการเผาในที่โล่ง จากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้มีการหารือในมาตรการจัดการลักลอบเผาอ้อยก่อนส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลอย่างจริงจัง แม้ว่ายังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร
โดยหลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะยกระดับการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สอน. จะแจ้งข้อมูลจุดที่มีการลับลอบเผาอ้อยซ้ำซาก เพื่อให้หน่วยงานปกครองสามารถป้องปรามการลักลอบเผา และเร่งดับไฟได้ทันท่วงที รวมทั้งขอร่วมมือกับโรงงานน้ำตาลเพื่อหามาตรการสนับสนุนการไม่รับอ้อยที่ถูกเผาเข้าหีบฤดูการผลิตนี้