สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร กำลังดำเนินการขุดดินที่ทับถมหนา ของเนินโบราณสถานวัดพระงามอารามหลวง เป็นโบราณสถานที่สำคัญในวัฒนธรรมทวารวดี ปัจจุบันตั้งอยู่ภายใน วัดพระงามอารามหลวง ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เนินโบราณแห่งนี้เป็นแหล่งที่พบปฎิมากรรมดินเผา เศียรพระพุทธรูป ที่มีพุทธศิลป์งดงาม มีศาสนสถาน ที่สร้างในสมัยอยุธยาอยู่ด้านบนเนิน มีการซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องในสมัยหลังเนื่องจากสถานที่นี้ มีดินทับถมหนาทำให้ไม่สามารถมองเห็นรูปทรงดั้งเดิม อีกทั้งโบราณสถานส่วนทางด้านทิศเหนือมีทางรถไฟตัดผ่าน ทำให้โบราณสถานถูกทำลาย
นายอนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ นักโบราณคดี ผู้ควบคุมโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงาม ของสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร เปิดเผยว่า เมื่อปี 2562 มีการขุดค้นทางโบราณคดีทางด้านทิศเหนือ จนพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายชิ้น รวมถึงหลักศิลาจารึกสมัยทวารวดี ดังนั้น การดำเนินการพัฒนาในครั้งนี้ เพื่อบูรณะส่วนฐานชั้นที่ 1 เท่าที่ปรากฏหลักฐานให้เห็นจากปี 2562 อีกทั้ง เพื่อป้องกันการพังทลายของอิฐที่เสื่อมสภาพ เนื่องจากโบราณคดีอยู่ในที่โล่งแจ้งทำให้ช่วงฤดูฝนประสบปัญหาน้ำฝนจากด้านบนไหลลงผ่านโบราณสถาน ทำให้เกิดความชำรุดเสียหาย จึงสมควรให้มีการอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป และชาวต่าชาติ ที่เข้ามาชมศึกษาศิลปสมัยทวารวดี
วีรวิชญ์ โรจนอัครพงศ์ / ทีมข่าวนครปฐม รายงาน