กาญจนบุรี - งานเข้า ปธ.กมธ.พัฒนาเมืองฯ เผยบ่อขยะเชิงเขาทองวิกฤต ค่ามลพิษสูงถึง 1771 มิลลิกรัม/ลิตร เตรียมเชิญอธิบดีกรมควบคุมมลพิษหาทางแก้ปัญหา พร้อมเชิญธนารักษ์หาทางออกเรื่องที่ดิน อาทิตย์หน้า
เมื่อเวลา 15.30 น.วันนี้ 9 ก.พ.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร นายกองเอกพงศธร ศิริสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายธนณัฏฐ์ ศรีสันต์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี พร้อมคณะกรรมาธิการฯ ท้องถิ่นอำเภอเมืองกาญจนบุรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 8 นายวรรษภณ แสงเป่า (ทนายสุกวี)ว่าที่ผู้สมัคร สส.กาญจนบุรี พรรคก้าวไกล(ก.ก.) เขต 1 และคณะ
เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อขยะเชิงเขาทอง หมู่ 5 ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยมีนายจักกฤช มหากิจวรกุล นายก อบต.แก่งเสี้ยน ส.ต.ท.เสน่ห์ ดำดี ปลัด อบต.แก่งเสี้ยน พร้อมผู้บริหาร อบต.แก่งเสี้ยนให้การต้อนรับ และนำพาลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยใช้แวลาประมาณ 30 นาทีจึงแล้วเสร็จ จากนั้นคณะทั้งหมดได้เดินทางมาประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องขยะและปัญหาที่ดินที่อยู่ในความดูแลของกองพลทหารราบที่ 9 ที่ห้องประชุมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน อบต.แก่งเสี้ยน ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี การประชุมใช้เวลาประมาณ 50 นาที
ทั้งนี้ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเมืองฯ เปิดเผยว่าหลังจากลงพื้นที่ดูบ่อขยะในวันนี้พบว่าปริมาณขยะที่มีอยู่ค่อนข้างวิกฤติ เนื่องงจากมีการนำขยะมาทิ้งต่อเนื่องทุกวันๆละ 200-300 ตัน ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆจาก 11 อำเภอและหน่วยงานทหารอีก 17 หน่วยนำขยะมาทิ้งในทุกๆวัน ซึ่งปริมาณขยะไม่ได้ลดลงเลยเนื่องจากไม่มีการบริหารจัดการในคัดแยกหรือแม้กระทั่งนำไปทำลายด้วยการฝังกลบซึ่งไม่มีกระบวนทำลายด้วยวิธีใดเลยแต่กลับเป็นการนำมาทิ้งสะสมไว้ในที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในการครอบครองของกองทัพ ซึ่งจากการที่ได้พูดคุยกับนายก อบต.แก่งเสี้ยน ทราบว่ามีปริมาณขยะทั้งเก่าและใหม่มากองรวมกันเกือบ 4 ล้านตัน
เพราะฉะนั้นหากจะต้องหาแนวทางในการแก้ไข แน่นอนว่าแนวทางในการแก้ไขในอนาคตคือต้องบริหารจัดการทำลายขยะของใหม่วันหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 250 ตัน และของเก่าที่มีอยู่วันละ 250 ตัน ซึ่งทั้งของเก่าและของใหม่จะต้องบริหารจัดการไปพร้อมๆกัน
แต่ในส่วนนี้จะต้องได้รับความชัดเจนคือ 1 ต้องมาดูว่าสถานที่บ่อขยะเชิงเขาทองจะได้ใช้ต่อไปอีกหรือไม่ หากได้ใช้จะต้องได้ใช้ไปอีกในระยะเวลาเท่าไหร่ บริษัทเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการจะต้องบริหารผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทางจังหวัดเองจะต้องเข้ามาดูแลเพื่อให้ความช่วยเหลือ
ซึ่งวันนี้ได้มีโอกาสประชุมร่วมกับท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะต้องมาดูภาพรวมทั้งหมด เพราะขยะแห่งนี้ไม่ได้เป็นของ อบต.แก่งงเสี้ยนที่เดียว ไม่ได้เป็นของอำเภอเมืองที่เดียว แต่เป็นของหลายอำเภอหลายหน่วยงานของจังหวัดกาญจนบุรีที่นำขยะมาทิ้ง ส่วนจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรนั้นในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ.66 เราจะมีการประชุมในวาระนี้โดยการเชิญทุกหน่วยงาน หรือแม้กระทั่งเจ้าของที่ดินโดยตรงคือกรมธนารักษ์ที่ดูแลที่ดินราชพัสดุทั้งหมดให้มาชี้แจงว่าที่ดินแปลงนี้หากหน่วยงานทหารไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และหน่วยงานท้องถิ่นต้องการที่จะนำไปใช้บริหารจัดการสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร หากทำไม่ได้แนวทางบริหารจัดการขยะต่อไปจะทำอย่างไร และนอกจากนี้จะเชิญตัวแทนกระทรวงมหาดไทยมาชี้แจงว่าปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในจังหวัดกาญจนบุรีเหล่านี้ และในจังหวัดอื่นที่ได้บริหารจัดการไปแล้วมีการบริหารจัดการกันอย่างงไรเพื่อให้ขยะลดลงโดยเร็ว เพราะขยะที่มีอยู่ในบ่อเชิงเขาทองอาจจะได้รับผลกระทบต่อประชาชนในรัศมี 500 เมตรถึง 1 กิโลเมตรก็เป็นไปได้ แต่ถ้าหากในอนาคตขยะได้ถูกนำมาทิ้งจนเต็มพื้นที่ชาวจังหวัดกาญจนบุรีอาจจะได้รับผลกระทบกันทั้งจังหวัด
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหามีอยู่ 2 แนวทางคือ 1 หากยังใช้พื้นที่เชิงเขาทองเป็นที่ทิ้งขยะต่อไปจะต้องทำอย่างไร จะให้เอกชนมาบริหารจัดการกำจัดขยะทั้งเก่าและใหม่ไปพร้อมๆกันหรือไม่เรื่องนี้จะต้องมาหาทางออกร่วมกัน และ 2 หากไม่ให้ใช้พื้นที่ต่อไป แล้วขยะที่มีอยู่จะทำอย่างไร ก็ให้บอกกันมาตรงๆ เราจะได้รู้ว่าขยะที่มีอยู่เราจะทำอย่างไรแต่เจ้าของพื้นที่จะต้องมาช่วยหาทางออกให้ด้วย
ส่วนปัญหามลพิษที่บ่อขยะขณะนี้เริ่มวิกฤตเพราะใกล้จะเข้าหน้าฝนแล้ว และได้ทราบข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่าเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ได้มีการประเมินปริมาณขยะใหม่โดยใช้เทคโนโลยี มีขยะใหม่อยู่ประมาณ 20,700 ตัน และมีการคำณวนค่าสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำที่อาจจะส่งผลทำให้น้ำเน่าเสียไปส่งผลกระทบต่อร่างกายและชีวิตของประชาชน ซึ่งค่ามาตรฐานอยู่ที่ 400 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ปัจจุบันทางกรมควบคุมมลพิษไปตรวจวัดค่า COD.อยู่ที่ 1,770 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานมากถึง 1,370 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงถือว่าค่อนข้างวิกฤติ ซึ่งจะต้องมาหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยในสัปดาห์หน้าเราจะได้เชิญท่านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษมาร่วมประชุมด้วยเพื่อมาหาทางออกร่วมกันต่อไป
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน