นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมคณะผู้บริหาร กฟผ. ร่วมให้การต้อนรับ นายหนูเอ่อ ไป๋เค่อลี่ รัฐมนตรีช่วยว่าการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการการพลังงานแห่งชาติจีน และคณะ ในการเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อหารือแลกเปลี่ยนมุมมองด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างสองประเทศ พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินกิจการด้านไฟฟ้าของ กฟผ. ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2560 ณ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทไฟฟ้าของประเทศจีนได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาพลังงานไฟฟ้ากับ กฟผ. หลายเรื่องด้วยกัน อาทิ การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก และระบบส่งไฟฟ้า อีกทั้งประเทศจีนยังเปิดโอกาสให้ กฟผ. ได้เข้าศึกษา ดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศจีนหลายรุ่นด้วยกัน ซึ่งการพบปะในครั้งนี้ยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า และความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าร่วมกันในอนาคต ทั้งในประเทศไทย และประเทศในอาเซียน อาทิ พม่า ลาว เป็นต้น
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานไทยในปัจจุบันต่อไปว่า สัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของไทย ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งต่อไป กฟผ. และกระทรวงพลังงานมีแผนงานที่จะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้นให้สอดรับกระแสการลดโลกร้อน อย่างไรก็ตาม ระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคงได้ ยังจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักในการขับเคลื่อน โดย กฟผ. พร้อมเดินหน้าสื่อสารกับสาธารณชนในเรื่องการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ อาทิ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ฯลฯ
นายหนูเอ่อ ไป๋เค่อลี่ เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศจีนว่า ประเทศจีนมีสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 57 เปอร์เซ็นต์ ถ่านหินจึงถือเป็นเชื้อเพลิงทางพลังงานหลักของจีน ฉะนั้นจีนจึงไม่ได้มีแผนที่จะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด แต่จะมุ่งยกระดับด้านคุณภาพโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่มีความปลอดภัย ในส่วนของโรงไฟฟ้ารุ่นเก่า จีนจะปิดโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ทั้งหมด ภายใน 5 ปี และทยอยปิดโรงไฟฟ้ารุ่นเก่าที่ดำเนินการมาแล้วมากกว่า 20 ปีที่มีกำลังการผลิตระหว่าง 300 - 600 เมกะวัตต์ ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนั้น จีนจะดำเนินการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ปล่อยมลภาวะลดลง ซึ่งในปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีนสามารถปล่อยมลภาวะน้อยกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ โดยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของจีนจะลดการใช้ปริมาณถ่านหินเหลือเพียงประมาณ 250 กรัม ต่อกิโลวัตต์ ต่อชั่วโมง และในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างใหม่นั้น จีนจะนำเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Clean Coal Technology) มาใช้ ทั้งนี้ปัจจุบันจีนใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า 9.4 แสนเมกะวัตต์ และในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนสูงถึง 1.1 ล้านเมกะวัตต์
นอกจากนี้ นายหนูเอ่อ ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องพลังงานทดแทนว่า การพัฒนาพลังงานทดแทนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่พลังงานทดแทน อาทิ โซลาร์ฟาร์ม ต้องอาศัยพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่กลับผลิตไฟฟ้าได้น้อย หากนำพื้นที่ขนาดเท่ากันไปสร้างโซลาร์ฟาร์ม และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โซลาร์ฟาร์มอาจผลิตไฟฟ้าได้เพียง 200 เมกะวัตต์ ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 2,000 – 4,000 เมกะวัตต์ รวมถึงยังแสดงความเห็นว่า ในอนาคตพื้นที่ในประเทศยังจะต้องลดลงอีกเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ดังนั้นการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทใดจึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในหลายด้าน
ทั้งนี้ ภายหลังจากการหารือร่วมกันคณะของรัฐมนตรีประเทศจีนได้เข้าเยี่ยมชมห้องควบคุมการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และมีกำหนดเดินทางเข้าเยี่ยมชมสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์