รมว.เกษตรฯ หนุนหมอดินอาสาเต็มร้อย เสริมแกร่งด้วยนโยบายตลาดนำการผลิต เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่การเกษตรทั่วไทย พร้อมจัดงานวันหมอดินอาสาอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้ธีม “หมอดินอาสา นำพาการผลิต พิชิตตลาด” มีหมอดินอาสาเข้าร่วมงานในทุกพื้นที่กว่า 7,700 คน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน "วันหมอดินอาสา กรมพัฒนาที่ดิน" ปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “หมอดินอาสา นำพาการผลิต พิชิตตลาด” ณ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมถ่ายทอดสดผ่านระบบ Video conference application zoom และ Facebook live กรมพัฒนาที่ดิน ไปยังอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติแก่หมอดินอาสาที่สร้างคุณประโยชน์ต่อสาธารณชนมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังจัดให้มีกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหมอดินอาสาและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน สร้างขวัญกําลังใจและแนวทางในการช่วยเหลือดูแลกันและกันของหมอดินอาสา รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายหมอดินอาสา โดยกิจกรรมภายในงานมีการนําเสนอความรู้ใหม่ด้านเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) แอปพลิเคชัน รู้จริง พืช ดิน ปุ๋ย (TSFM) 2) การลดก๊าซเรือนกระจกโดยกรมพัฒนาที่ดิน และ 3) 6 สายพันธุ์บริสุทธิ์หญ้าแฝก หญ้าของพระราชา นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์สินค้าเด่นของหมอดินอาสาในพื้นที่ และการบรรยายพิเศษจากหมอดินอาสาที่ปรับเปลี่ยนจากผู้ผลิตเป็นผู้ประกอบการ การซื้อขายสินค้าเกษตรในระบบออนไลน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เครือข่ายหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นเกษตรกรที่มีจิตสาธารณะที่ช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกร ในการปรับปรุงบํารุงดิน และฟื้นฟูทรัพยากรดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีหมอดินอาสา จํานวน 77,688 ราย หมอดิน 354 ราย ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายเกษตรกรที่ใหญ่ที่สุดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีความสำคัญ จึงกําหนดให้มีวันหมอดินอาสาขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ของทุกปี โดยในปี 2566 นี้ ได้กําหนดหัวข้อของวันหมอดินอาสาว่า “หมอดินอาสา นําพาการผลิต พิชิตตลาด” เพื่อแสดงถึงการยกระดับและพัฒนาเครือข่ายหมอดินอาสาให้เป็นผู้ประกอบการ โดยในปัจจุบันการหาช่องทางการตลาดหรือการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคเป็นสิ่งสําคัญ ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 ตลาดนำการผลิต ที่เร่งส่งเสริมด้านการตลาด ผลักดันให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ
การจัดงานวันหมอดินอาสาในวันนี้ เป็นการรวมพลังหมอดินอาสาทั่วประเทศที่เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่การเกษตร สามารถพิชิตตลาดได้อย่างเข้มแข็ง นำมาซึ่งความมั่นคงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งหมอดินอาสาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการร่วมผลักดันให้ภารกิจของกรมพัฒนาที่ดินบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงต้องขอขอบคุณเครือข่ายหมอดินอาสาที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่ดินให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม และขอชื่นชมกรมพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะสถานีพัฒนาที่ดินทั้ง 77 จังหวัด ที่ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายหมอดินอาสาให้มีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรต่อไป
ปัจจุบันมีหมอดินอาสาอยู่ทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ริเริ่มโครงการ “หมอดินอาสา” ขึ้นในปี 2538 รวมระยะเวลา 28 ปี ซึ่งหมอดินอาสามีทั้งหมด 4 ระดับ แบ่งเป็น หมอดินอาสาประจําหมู่บ้าน ตําบล อําเภอ และจังหวัด ได้รับการพัฒนาศักยภาพ และมีการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั้งในและต่างประเทศ โดยระดับพื้นที่หมอดินอาสาเป็นตัวแทนช่วยประสานงาน ประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพัฒนาที่ดินไปสู่เกษตรกร และผู้สนใจในพื้นที่ได้ ซึ่งหมอดินอาสาเปรียบเสมือนครูและเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร ส่วนระดับประเทศ หมอดินอาสาเป็นเครือข่ายเกษตรกรขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพสูง เป็นเกษตรกรต้นแบบที่มีองค์ความรู้ สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เพื่อการจัดการดินอย่างยั่งยืน ขณะที่ระดับโลก หลายองค์กร เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้นำแนวคิดหมอดินอาสาไปส่งเสริมในระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อ หมอดินโลก (Global Soil Doctor Program) รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา ได้เข้าร่วมโครงการจัดตั้งหมอดินอาสากับกรมพัฒนาที่ดินด้วย
สำหรับในปี 2566 นี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน มีเป้าหมายพัฒนาขีดความสามารถในเรื่องตลาดนำการผลิต และการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรผ่านเครือข่ายหมอดินอาสา ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการที่ดินทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนการสนับสนุนให้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 4.0 และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน สู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เป็นประธานกลุ่มในโครงการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และโครงการหมู่บ้านปลอดขยะอินทรีย์ต้นแบบ (Zero waste) เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางดินจัดการขยะเศษวัสดุอินทรีย์ในชุมชนให้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วย
"หมอดินอาสาเป็นกลไกการพัฒนาทางการเกษตรที่สําคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและตลาด ส่งผลให้เกิดรายได้ และคุณภาพชีวิตดี อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านวิกฤตโควิด-19 จะมีอัตราการบริโภคมากขึ้น สินค้าต้องมีคุณภาพมากขึ้น ขณะที่วิกฤตต่าง ๆ ยังไม่หมด สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร เช่น ปุ๋ยแพง จึงต้องรณรงค์ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสดทดแทน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานของหมอดินทั้งสิ้น การจัดงานในวันนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งวันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยินดีที่ได้มีการจัดงานวันหมอดินอาสาขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติแก่หมอดินอาสาที่ปฏิบัติงานเป็นจิตอาสาให้กับกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งปฏิบัติงานโดยไม่มีค่าตอบแทน และขอสัญญาว่าจะพยายามผลักดันให้อาสาสมัครเกษตรทุกสาขาได้รับค่าตอบแทน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป"ดร.เฉลิมชัย กล่าว