นายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพาราอย่างเต็มที่ ยันวิกฤตรุนแรงผ่านไปแล้วหลังการใช้ยางในประเทศเพิ่มบวก ส่งออกขยายตัว สั่งเกษตร พาณิชย์ การยางฯ เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่สังคม
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ว่า ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นลงตามวงจรของเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆ ของโลก เช่น อัตราดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยนราคาน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางเป็นการเฉพาะ ทั้งการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรผู้รวบรวมยางพาราและผู้ประกอบการกิจการยาง เพื่อใช้รับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรโดยตรง ช่วยแก้ไขปัญหาราคาน้ำยางพาราที่ปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ ยังขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร และจัดทำโครงการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และมุ่งเน้นที่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น ตั้งกองทุนพัฒนายางพารา เพื่อให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับยางพาราทั้งระบบ ขณะเดียวกันขอให้เกษตรกรพิจารณาหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน โดยเฉพาะพืชที่สร้างรายได้ตลอดทั้งปีและมีรายได้ดีกว่า และเรียนรู้จากตัวอย่าง ของ Smart Farmer ที่ประสบความสำเร็จแล้ว
"นายกฯ กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ยางพาราเป็นอย่างมาก แต่ประเทศไทยส่งออกยางพายาในรูปแบบของวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมให้มีการแปรรูปโดยใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่ายาง ที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนการจัดตั้งเมืองยางพาราและกระตุ้นให้มีการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนการพึ่งพาการส่งออก" นายกรัฐมนตรี ยังเชื่อมั่นว่าขณะนี้ได้ผ่านวิกฤตความผันผวนด้านราคายางอย่างรุนแรงไปแล้ว โดยการส่งออกและราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกยางพาราธรรมชาติ ทั้งยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น และยางอื่น ๆ มีมูลค่า 2,834.06 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.55 ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง มีมูลค่า 4,066 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.98 ซึ่งคาดว่าแนวโน้มจะยังคงขยายตัวได้ดีขึ้น เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง "นายกฯ สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และการยางแห่งประเทศไทยเร่งสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง และทำความเข้าใจแก่พี่น้องเกษตรกรให้ลดความกังวลลง พร้อมกำชับกระทรวงพาณิชย์ให้ใช้โอกาสนี้เร่งเจรจาจับคู่ธุรกิจการค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง และจัดคณะผู้แทนการค้ายางพาราออกไปเจรจาขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ ควบคู่กับการใช้ยางภายในประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน ลาตินอเมริกา บังคลาเทศ และอิหร่าน ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นราคายางภายในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้นได้"