ครม. เห็นชอบการเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (European Union: EU)
วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเข้าร่วมเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป และกรอบการเจรจา FTA ไทย - สหภาพยุโรป โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมประกาศหรือออกแถลงการณ์เปิดการเจรจาจัดทำ FTA ไทย - สหภาพยุโรป โดยเป็นการใช้หลักการเดียวกับการยกร่างกรอบการเจรจา FTA ไทย - สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และกรอบเจรจา FTA อาเซียน - แคนาดา ที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบ
ร่างกรอบการเจรจาฯ มีเนื้อหาครอบคลุม 20 หัวข้อ เช่น การค้าสินค้า การลงทุน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์/การค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ประโยชน์ ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อม ระดับการพัฒนา และภูมิคุ้มกันของประเทศ ตลอดจนการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
สำหรับประโยชน์และผลกระทบที่คาดว่า ไทยจะได้รับจาก FTA
ช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดสินค้าของไทย ในกลุ่มประเทศสมาชิก สหภาพยุโรป ช่วยปรับโครงสร้างภาคการผลิต และบริการของไทยไปสู่การผลิต และบริการใหม่ที่มีศักยภาพ ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นโอกาสของไทยในการยกระดับมาตรฐานและกฎระเบียบในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมเจรจาจัดทำ FTA ไทย - สหภาพยุโรป เป็นผลความสำเร็จที่สืบเนื่องจากการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันที่ 12-15 ธันวาคม 2565 ที่ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อเปิดการเจรจา FTA ไทย - สหภาพยุโรป อย่างเป็นทางการได้โดยเร็วที่สุด และยังเป็นนโยบายสำคัญ เนื่องจากสหภาพยุโรปถือเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประกอบด้วยสมาชิก 27 ประเทศที่มีศักยภาพ มีประชากรเกือบ 500 ล้านคน มี GDP อยู่ที่ประมาณ 17 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของไทย ซึ่งผลการวิเคราะห์แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์พบว่า การจัดทำ FTA จะทำให้ GDP ของไทย ขยายตัวร้อยละ 1.28 ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.83 การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.81 รวมทั้งทำให้การกระจายรายได้ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ 18 ประเทศ รวม 14 ฉบับ