ครม.รับทราบผลการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย มุ่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบผลการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร. เพื่อเป็นเวทีสร้างพลังขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยในทุกระดับและทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เป้าหมาย Net zero 2065 เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของไทยในเวทีโลก” เพื่อยืนยันถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาระดับชาติ ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เพื่อสร้างความสมดุลแห่งการพัฒนาและเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนรูปแบบทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติได้เน้นย้ำการมุ่งยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในประเทศร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นและมุ่งแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่
3. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “TCAC: Road to COP27 and Beyond” และ “จากนโยบายสู่ความสำเร็จด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยเน้นย้ำว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แปลงเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่นโยบายและแผนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม เช่น แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 - 2593 แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. ออสเตรเลีย เยอรมนี ญี่ปุ่น สมาพันธรัฐสวิส และสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
5. ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจตอบรับต่อเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศและพร้อมสนับสนุนภาครัฐ โดยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวยังได้มีการเสวนาเชิงวิชาการในประเด็นต่าง ๆ เช่น 1.เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนไทย ไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 2.ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จของโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไทยร่วมดำเนินการกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทานาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NANA) 3.ป่าไม้และการกักเก็บคาร์บอน 4.เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ 5.การบริการข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในภาคเมือง 6.พลังงานและการขนส่งที่ยั่งยืนผ่านนโยบายและทิศทางการดำเนินงานภายใต้แผนพลังงานชาติ และ 7.ตลาดคาร์บอนเครดิต
“ผลลัพธ์สำคัญของการจัดประชุมนี้ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมกัน โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานต่อการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP27) ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.การขับเคลื่อนนโยบายในระดับพื้นที่ 2.เทคโนโลยีที่เป็นมิตร เช่น การปลูกข้าวมีเทนต่ำ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ยานยนต์ไฟฟ้า 3.กลไกการเงินผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และ 4.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ” น.ส.ทิพานัน กล่าว