เลือกตั้งปี ’66 ส่อแวววุ่นตั้งแต่เริ่มต้น ภายหลัง 7 เสือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรก ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) 2564 เมื่ออดีต กกต.รุ่นพี่ ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย ออกมาท้วงติงและตั้งข้อสังเกตว่าการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ด้วยการนำคนที่ ไม่มีสัญชาติไทย มานับรวมด้วยนั้น ไม่สามารถทำได้ ควรเคลียร์ให้ชัดเจนก่อนเดินหน้าแบ่งเขตเลือกตั้ง หากไม่ยับยั้ง สุ่มเสี่ยงมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความคำว่า ราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 ว่า หมายถึงราษฎรที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือหมายความรวมถึงราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทยอยู่ด้วยได้
ขณะเดียวกัน ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาล ก็ออกมาแสดงความกังวลเช่นเดียวกันว่าไม่ควรนับเอาคนที่ไม่มีสัญชาติไทยรวมไปด้วย พร้อมกับชี้ช่องทางแก้ปัญหาด้วยการให้ กกต.สอบถามความชัดเจนไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าท้ายที่สุดแล้วจะต้องนับรวมหรือไม่รวมกันแน่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านและท้วงติงมากแค่ไหน แต่ 7 เสือ กกต.ก็มั่นใจว่าสิ่งที่ดำเนินการนั้นถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีความคิดที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ พร้อมกับงัดข้อกฎหมายออกมายืนยันว่าการคิดจำนวน ส.ส.ได้ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 86 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ‘ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง โดยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ไว้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาว่ามีจำนวน 66,090,475 คน ทั้งบุคคลที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งถ้าพิจารณาถ้อยคำที่ใช้จะเห็นว่าให้ เอาจำนวนราษฎร ทั่วราชอาณาจักร’ มาพิจารณา ปฏิบัติเรื่อยมาจนกระทั่งการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็ประกาศเช่นนี้
ประกอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้เคยให้ความเห็นกรณีอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จะยกสถานะอำเภอแม่สอดเป็นเทศบาล มีเกณฑ์ราษฎรขั้นต่ำ 50,000 คน หากนับเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยจะมีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ยกฐานะเทศบาล ดังนั้นมีปัญหาว่าจะรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นราษฎรรวมหรือไม่ เท่ากับว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา สอดคล้องกับ กกต. ว่าการคิดจำนวนราษฎรนั้นต้องคิดรวมทั้งหมดของบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ กกต.มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น จึงเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้ง สั่งการให้ กกต.จังหวัดทั่วประเทศ โชว์รูปแบบการแบ่งเขตและเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตามขั้นตอนปกติ
กระทั่ง กระบวนการแบ่งเขตผ่านมาครึ่งทาง จบขั้นตอนปิดรับฟังความเห็นไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กกต.กลับส่งเรื่องไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่าการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณด้วยนั้นสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งที่ ประเด็นนี้นักการเมือง นักวิชาการ เห็นตรงกันว่าควรจะส่งไปตั้งแต่ก่อนประกาศรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่แรกแล้ว
การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความครั้งนี้ กกต.ให้เหตุผลว่า ได้นำข้อคิดเห็นจากประชาชน พรรคการเมือง นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา ประกอบกับมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คำร้องของ กกต.ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อย ขั้นตอนต่อจากนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะนัดประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณา สมมุติหากรับคำร้องพร้อมมีคำสั่งให้ กกต.หยุดการกระทำไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบกับไทม์ไลน์การทำงานที่ กกต.วางไว้อย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น หากผลออกมาเป็นลบกับทาง กกต. เท่ากับว่าต้องถอยหลังกลับไปเริ่มต้นใหม่ แม้ กกต.จะเตรียมแผนสำรองไว้ก็ตาม
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า ตอนแรก กกต.มีความมั่นใจว่าเมื่อพูดถึงคำว่าราษฎร เพราะตีความกันแบบนี้มาโดยตลอด ทุกการเลือกตั้ง นับตั้งแต่สมัยที่กระทรวงมหาดไทย จัดการเลือกตั้งแล้ว เป็นการตีความตามกฎหมายทะเบียนราษฎร ซึ่งเก็บข้อมูลคนที่มีสัญชาติไทยและคนไม่มีสัญชาติไทย เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเวลาส่งข้อมูลจะรวมตัวเลขมาให้เป็นก้อน แต่ช่วงหลังมานี้จะแยก ซึ่งเรื่องนี้เคยคุยกันแล้วว่าราษฎรคือคนทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย จะมีสัญชาติหรือไม่มีสัญชาติก็ว่ากันไปนับรวมหมดขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เมื่อถูกตั้งคำถาม กกต.จึงเริ่มไม่มั่นใจ เพื่อความปลอดภัย จึงส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อเป็นบรรทัดฐาน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการวินิจฉัยของ กกต.เพียงฝ่ายเดียว
ดร.สติธรระบุว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องของ กกต.ไว้พิจารณาแล้ว ถ้าไม่มีคำสั่งให้ กกต.หยุดการดำเนินการ กกต.สามารถเดินหน้าไปตามขั้นตอน ตามแผนงานที่วางไว้ สมมุติเมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาว่า กกต.ทำถูกต้องแล้ว คือให้นับรวมราษฎรทั้งคนที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย ทุกอย่างก็จบ ยกเว้นขัดรัฐธรรมนูญหรือทำไม่ถูกต้อง ย่อมส่ง
ผลกระทบทำให้ กกต.ต้องแบ่งเขตล่าช้าออกไป ส่วนจะล่าช้าแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าคำวินิจฉัยออกมาเร็วหรือช้า เท่ากับว่า โอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง สมมุติเป็นทางที่ไม่เป็นคุณกับทาง กกต. อาจจะต้องทำให้ กกต.ต้องรื้อระเบียบการแบ่งเขตกันใหม่ โดยกระชับเวลาให้ได้ตามเวลาที่เหลืออยู่เพื่อเผื่อเวลาให้พรรคการเมืองได้ทำไพรมารีอย่างง่ายด้วย
ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ผ่านมาตีความคำว่าราษฎรกันมาเช่นนั้น ก็คงต้องนับรวมไปตามนั้นก่อน เพราะว่ารัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้มีการนิยามคำว่า ราษฎร ไว้เฉพาะ เมื่ออ้างอิงจากกฎหมายทะเบียนราษฎร ของกระทรวงมหาดไทย แต่มาบอกว่าไม่ใช่ จะปฏิเสธการอ้างอิงแบบนั้น ก็คงต้องเขียนให้กฎหมายให้ชัดเจนก่อน ถ้าจะนิยามว่าราษฎรหมายถึงเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทย ต้องเขียนให้ชัดเจน เพราะถ้าเขียนแค่ว่าการนับราษฎรในฐานะคนปฏิบัติมองว่าทำถูกแล้ว ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้ากล่าว
ดร.สติธรบอกว่า ขณะเดียวกัน การนับจำนวนคนที่จะนำมาคำนวณว่าจะมี ส.ส.ได้กี่คน ก็มีความต่างกันอยู่ระหว่างราษฎรกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้อาจจะเชื่อได้ว่าจริงๆ อยากให้นับราษฎร ที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยก็ได้ เพราะมีการพูดเรื่องสัญชาติในคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าต้องได้สัญชาติไทยมาไม่น้อยกว่า 5 ปี แปลว่าเขานับรวมคนไม่มีสัญชาติไว้ก่อน แล้ววันใดที่คนไม่มีสัญชาติไทยได้สัญชาติไทยขึ้นมาตามกฎหมายจะกลายเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ อาจจะให้ตีความได้ว่าเรื่องไม่มีสัญชาติไม่มีประเด็นอาจนับรวมมาแล้วตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น เขาน่าจะเขียนว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือคนไทยที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น
ส่วนจะทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปหรือไม่ ดร.สติธรมองว่า กรณีถ้าสภาผู้แทนราษฎร อยู่ครบเทอมถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 แน่นอนว่า วันเลือกตั้งจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ กกต.กำหนดไว้คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แปลว่าขยับไม่ได้ กกต.ทำงานยากแน่นอน แต่ถ้ายุบสภา ก็ขึ้นอยู่กับว่ายุบสภาช่วงใด ยิ่งใกล้วันที่ 23 มีนาคม 2566 เท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสขยับออกไปได้หลายสัปดาห์ แต่ถ้ายุบสภาเร็ว สมมุติช่วงต้นเดือนมีนาคม แน่นอนว่าจะยิ่งทำให้ไทม์ไลน์ชนกัน 60 วันที่เพิ่มขึ้น 15 วัน จากเดิม 45 วัน ก็จะพอดีขยับไม่ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ขึ้นอยู่กับว่า
‘รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือถ้ายุบสภาก็ลุ้นให้ใกล้ๆ วันครบเทอม ถ้าแบบช่วยกันเลย คือยุบสภาช่วงวันที่ 21-22 มีนาคม เพื่อให้เวลาเลื่อนไปอีก 2 สัปดาห์ กกต.จะได้ทำงานอย่างสบายใจมากขึ้น’ ดร.สติธรอธิบาย
ส่วนผลการวินิจฉัย จะออกหน้าไหน และกระทบต่อการทำงานของ กกต.หรือไม่ ต้องเฝ้าจับตา