ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ดำเนินการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กำลังจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ
รอประกาศกำหนดผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือในราชกิจจานุเบกษา เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ผังน้ำดังกล่าว ได้นำข้อมูลผังน้ำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำ การจัดทำแผนปรับปรุง ฟื้นฟูทางน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก จัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือทั้งฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง
อีกทั้งนำไปเชื่อมโยงกับผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมืองสำหรับใช้เป็นกรอบกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่จากภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง
“ที่ผ่านมาพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ประสบวิกฤติน้ำท่วมและภัยแล้งบ่อยครั้งจากหลายปัจจัย ได้แก่ แหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ไม่เพียงพอ การบุกรุกแหล่งน้ำสาธารณะ การบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ตลอดจนความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำมีจำกัด เกิดการบุกรุกพื้นที่ชุมชน และการตื้นเขินจากการตกตะกอนในลำน้ำ ปัญหาต่างๆ มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
“ดังนั้น การจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ เนื่องด้วยผังน้ำนี้เปรียบเสมือนฐานข้อมูลน้ำของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีข้อมูลการศึกษารองรับครอบคลุมทุกด้าน และผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ”
ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลผังน้ำมีความสมบูรณ์สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ซึ่งหน่วยงานหรือคณะกรรมการลุ่มน้ำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำไปต่อยอด ใช้ข้อมูลศักยภาพแหล่งน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำหลาก น้ำแล้งให้สอดคล้องกันทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพน้ำ
ผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีข้อมูลเชิงลึกและข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ทั้งการจัดระบบเส้นทางน้ำ เพื่อกำหนดขอบเขตเส้นทางน้ำหลาก พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมโอกาสที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปี 5 ปี 10 ปี 25 ปี 50 ปี และ 100 ปี รวมถึงระดับความลึกน้ำท่วมในแต่ละบริเวณ ซึ่งสามารถนำไปประกอบการพิจารณาพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมได้
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลความจุของลำน้ำและทิศทางอัตราการไหลของน้ำ สามารถวิเคราะห์ได้ว่าน้ำไหลผ่านบริเวณนี้ปริมาณเท่าไหร่ถึงจะอยู่ในจุดวิกฤติน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง นำไปเป็นข้อมูลคาดการณ์พื้นที่น้ำท่วมและน้ำแล้งได้ทันที ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำผังน้ำไปใช้วางแผนการระบายน้ำหรือเก็บกักน้ำได้อย่างเหมาะสม
รวมถึงวางแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง เช่น ขุดลอกลำน้ำหรือปรับปรุงสิ่งกีดขวางลำน้ำ ประชาชนสามารถนำข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบผังน้ำไปประกอบการตัดสินใจพัฒนาที่อยู่อาศัยหรือที่ดินทำกิน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ เลขาธิการ สทนช. ยังได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบของการใช้ผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ในการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากพื้นที่ในเขต ต.ตองโขบ และใกล้เคียงมีปัญหาน้ำในห้วยน้ำพุงมีระดับสูงในฤดูฝนจึงไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกเป็นประจำ ส่วนฤดูแล้งก็ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค
โดยกรมชลประทาน รับผิดชอบงานก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ ทำหน้าที่ตัดยอดน้ำจากลำน้ำพุงก่อนไหลลงสู่หนองหาร และผันน้ำส่วนเกินลงสู่ลำน้ำก่ำ ช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่หนองหาร ลดปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่โดยรอบ ควบคู่กับงานปรับปรุงเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของลำน้ำสายต่างๆ อาทิ คลองผันน้ำร่องช้างเผือก-ห้วยยาง และคลองผันน้ำห้วยยาง-ล้ำน้ำก่ำ ปัจจุบันแล้วเสร็จ 100%
ส่วนคลองผันน้ำห้วยทามไฮ-ห้วยสองตอน อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และคลองผันน้ำหนองแซง-ห้วยซัน-ห้วยยาง จะเริ่มดำเนินการในปี 2567 ซึ่งโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2569 มีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากถึง 78,358 ไร่ สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค การเกษตรรวมทั้งรักษาระบบนิเวศ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ เมื่อทำการวิเคราะห์ผลด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมก่อนและหลังมีประกาศเขตผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ก่อนหน้านี้จะมีพื้นที่น้ำท่วม 117.29 ตร.กม. และเมื่อมีโครงการพื้นที่น้ำท่วมลดลงเหลือ 113.58 ตร.กม. โดยสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมใน 5 อำเภอ 17 ตำบลของจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณโดยรอบหนองหาร