นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำหนดแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงพาณิชย์ ครั้งที่ 1/2566 เพื่อสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีการเจริญเติบโตโดยสมดุลสอดคล้องกับต้นทุนและศักยภาพของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจที่จะสร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในพื้นที่ โดยมี นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี นายอรัญ วงศ์อนันต์ รองประธานคณะทำงาน นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมจะบังติกอ โรงแรม ซี.เอส ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการริเริ่มโครงการดังกล่าว และเป็นการเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดประโยชน์แก่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์โควิด เริ่มคลี่คลายลงไป ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเริ่มแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทั่วประเทศให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการพัฒนาหลายสิ่งหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้า การลงทุน รวมถึงการคมนาคม โดยเราจะสังเกตได้ว่า ในรอบไม่กี่วันที่ผ่านมาจะมีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย หลายเที่ยวบินและทุกเที่ยวบิน เต็มทุกที่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ 2 ประเทศได้จับมาร่วมกันในการสร้างเศรษฐกิจให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ
สำหรับการประชุม คณะทำงานกำหนดแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงพาณิชย์ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีบัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำหนดแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงติดตาม และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจของพื้นที่ ให้เกิดการยกระดับการค้าและการตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดขายแดนภาคใต้ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันเหตุการณ์ และให้การดำเนินการกำหนดแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถขับเคลื่อนไปได้โดยเร็ว ลดปัญหา และอุปสรรค รวมทั้งใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้มีการพิจารณาเรื่องของแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้า อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ การสร้างฐานการผลิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ และการจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการจังหวัดชายแดนภาคใต้กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ และยังมีการพิจารณาเรื่องของแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการลงทุน อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้