ชลบุรี จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และโครงการท่าเรือสีขาว ประจำปี 2566
วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อประชาสัมพันธ์ การซักซ้อมแนวทางการดำเนินการและเน้นย้ำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ โดยมีนายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจิตอาสาในพื้นที่ ร่วมกิจกรรม ณ บริเวณลานหน้าศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ตามที่รัฐบาลได้ยกระดับการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของประเทศไทย อยู่ในระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ประเทศไทยตอนกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชลบุรี ได้ร่วมกับท่าเรือแหลมฉบัง และบริษัท ไทยออยล์ (จำกัด) มหาชน ได้จัดกิจกรรมป้องกันและลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และโครงการท่าเรือสีขาว ประจำปี 2566 จังหวัดชลบุรีขึ้น เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัวในการควบคุมและลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในเขตอุตสาหกรรม เขตเมือง และพื้นที่ชุมชนต่างๆ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของจังหวัดชลบุรีต่อไป
นายพงศ์ธสิษฐ์ ปิจน์นท์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดชลบุรี อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ลักษณะทางกายภาพที่หลากหลาย มีทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่การเกษตร ชุมชนเมือง เขตนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือขนาดใหญ่ อาจเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ได้ ทั้งนี้ เพื่อการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จึงได้กำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ให้ทุกภาคส่วนได้ถือปฏิบัติตามมาตรการ 4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีนโยบายท่าเรือสีขาว (White Port) โดยมีมาตรการอย่างเคร่งครัดในการจัดการปัญหาการจราจรในท่าเรือ รวมถึงการลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดชลบุรี ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อผลักดันการควบคุม และลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ภายในพื้นที่จังหวัดชลบุรีให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนต่อไป
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จากข้อมูลมหาวิทยาลัยมหิดล “PM2.5” เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งสามารถหายใจเข้าไปได้ โดยฝุ่นปกติที่มีขนาดใหญ่จะติดอยู่ที่บริเวณหลอดลม แต่ฝุ่นที่มีขนาด 2.5 ผ่านเข้าไปในปอด กระแสโลหิต และเข้าไปในร่างกาย ทำให้เกิดการระคายเคือง ซึ่งนอกจากระบบทางเดินหายใจ ยังส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น ทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงต่อเส้นเลือดในสมองอุดตันและแตก ส่วนในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อโรคทางหัวใจ การทำงานของไตเสื่อม โรคเบาหวาน และเกี่ยวข้องกับมะเร็งปอด เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยควบคุมแหล่งกำเนิด (PM2.5) ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ (1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ (2) พื้นที่เกษตรกรรม (3) พื้นที่ชุมชนและเขตเมือง (4) พื้นที่ริมทาง
สำหรับจังหวัดชลบุรีมีท่าเรือเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีระบบการขนส่งทั้งทางบกและทางทะเลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา รัฐบาลจึงได้มีนโยบายพัฒนาท่าเรือไทยสู่ “ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port)” มุ่งสู่ “เมืองไร้ควันพิษ อุตสาหกรรมปลอดฝุ่น และท่าเรือสีขาว”โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับกิจการท่าเรือ และธุรกิจโลจิสติกส์การให้บริการของการท่าเรือ เพื่อให้การทำงานมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการลดค่าฝุ่นละออง (PM2.5) ให้เป็นไปตามนโยบายท่าเรือสีขาว (White Port) ของกระทรวงคมนาคม ต่อไป