อพท.เผยตัวเลขรายได้ชุมชนในพื้นที่พิเศษโตขึ้น 300 % ความอยู่ดีมสุขสูงถึง 86 % พร้อมชูการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประทศ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการท่องเทียววิถีไทย ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผอ.องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรืออพท. กล่าวในพิธีเปิดงาน DASTA Forum 2017 ว่า ตลอดระยะเวลา 14 ปี ของการก่อตั้งองค์กร อพท. ที่ได้ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่แห่งท้องถิ่นให้ดีขึ้น และในการจัดงาน DASTA Forum 2017 ก็เพื่อแสดงผลการดำเนินงานของอพท.ที่สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในด้าน “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
โดยอพท.ได้มีการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าเศรษฐศาสตร์ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของทรัพยากรการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ ที่สามารถประเมินมูลค่าออกมาเป็นตัวเลขได้รวมมูลค่ากว่า 3.3 ล้านล้านบาท แบ่งตามพื้นที่ได้ดังนี้ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง 163,962 ล้านบาท พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง 1,894,000 ล้านบาท พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย- ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร 383 ,355 ล้านบาท พื้นที่พิเศษเลย 611,731 ล้านบาท พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน 123,829 ล้านบาท พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง 46,543 ล้านบาท
สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 พบว่า การมีอยู่ของ อพท. ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่พิเศษเพิ่มขึ้น 18% ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวสูงขึ้น 2.09 เท่า ช่วยกระจายรายได้ไปสู่หน่วยเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวชุมชนสูงถึง 41.02 % ค่าเฉลี่ยรายได้เสริมที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในภาพรวม 235.90% ในชุมชนเดิม และร้อยละ 312.40 % ในชุมชนใหม่เมื่อเทียบกับชุมชนที่ไม่ได้อยู่ในการดูแของอพท. การประเมินระดับความสุขของนักท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ พบว่านักท่องเที่ยวมีความสุขเฉลี่ยร้อยละ 79.17 ประชาชนในพื้นที่พิเศษผ่านเกณฑ์ประเมินระดับความอยู่ดีมีสุข สูงถึงร้อยละ 86.36
อพท.หวังว่าการจัดงานการประชุมสัมมนา DASTA Forum 2017 ครั้งนี้จะเป็นเวทีในการนำเสนอผลสำเร็จในการพัฒนาการท่องเที่ยว ได้ออกมาเผยแพร่สู่สาธาณะให้บุคคลและหน่วยงานภายนอกได้รับทราบว่าการท่องเที่ยวเปรียบเหมือนเครื่องยนต์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้การท่องเที่ยวเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน
อย่างไรก็ตามการทำงานของ อพท. ตลอด 14 ปี และจากนี้อีกต่อไป จะยังคงบทบาทภารกิจที่สำคัญในการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคการท่องเที่ยว ให้เกิดความสมดุลในมิติเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับในนโยบายและผลงานให้แก่กลุ่มเป้าหมายอันได้แก่ ประชาชน หน่วยงานทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ