การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะครบรอบ 59 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 พร้อมก้าวสู่ปีที่ 60 อย่างมั่นคง ด้วยภารกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเป็นมหานครไร้สาย เดินหน้านำสายไฟฟ้าลงใต้ดินอย่างต่อเนื่อง และการประกาศตัวเป็น the MetGE ในฐานะองค์กรที่จัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแห่งอนาคต ภายใต้ค่านิยมระบบไฟฟ้ามั่นคง บริการมั่นใจ ห่วงใยสังคม ตอบสนองวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากล
วันนี้ (12 กรกฎาคม 2560) นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า ในวาระครบรอบ 59 ปี แห่งการสถาปนา กฟน. ที่จะมาถึงในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 นี้ กฟน. ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งสู่ปีที่ 60 อย่างมั่นคง โดยผลประกอบการครึ่งปีแรก กฟน. มีรายได้รวม 94,000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปี 2560 จะสามารถทำรายได้ถึง 192,000 ล้านบาท กำไรสุทธิคาดการณ์ที่ 9,000 ล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีแรกนี้ กฟน. สามารถส่งรายได้เข้าสู่รัฐสูงกว่าประมาณการตรงตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ โดยในปีนี้กฟน. เร่งเดินหน้าการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการเป็น “มหานครไร้สาย Smart Metro” ปัจจุบันพื้นที่ที่ดำเนินการย้ายสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้วเสร็จ รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 41.9 กิโลเมตร โดยมุ่งเน้นใจกลางพื้นที่ทางเศรษฐกิจ และบริเวณสถานที่สำคัญ เช่น ถ.สีลม ถ.สุขุมวิท ถ.เพลินจิต ถ.พญาไท ถ.สุโขทัย ถ.พหลโยธิน เป็นต้น สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีระยะทาง 172.7 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือกทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ รวม 45.4 กิโลเมตร ได้แก่ ถ.ราชปรารภ ถ.ศรีอยุธยา ถ.โยธี ถ.เพชรบุรี ถ.รัชดาภิเษก ถ.เทียมร่วมมิตร ถ.พระราม4 ถ.พระราม3 ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ถ.สาธุประดิษฐ์ ถ.สาทร ถ.นางลิ้นจี่ และโครงการเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะที่ 1 ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร นอกจากนี้ กฟน. ยังมุ่งมั่นในการย้ายสายสื่อสารลงใต้ดินพร้อมกับจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังสร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้แก่มหานคร โดยล่าสุด กฟน. เตรียมรื้อถอนเสาไฟฟ้า และย้ายสายสื่อสารลงใต้ดินบริเวณถ.พหลโยธินซึ่งเป็นพื้นที่จำหน่ายกระแสไฟฟ้าโดยระบบสายไฟฟ้าใต้ดินเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ที่ผ่านมา กฟน. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่ที่ดำเนินการจัดระเบียบไปแล้ว เช่นถ.สุขุมวิท ถ.เพชรบุรี ถ.พระราม 1 ถ.พระราม 3 ถ.พระราม 4 ถ.รามคำแหง ถ.สุขสวัสดิ์ ถ.ราชดำริ และถ.พญาไท เป็นต้น ขณะที่ในปัจจุบัน กฟน. ยังได้ดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่บางส่วนของ ถ.งามวงศ์วาน ถ.สารสิน ถ.สาทรเหนือ ถ.สาทรใต้ ถ.กาญจนาภิเษก และถ.ราชดำเนินกลาง รวมระยะทางการดำเนินงานนับจากปี พ.ศ. 2557 ถึงปัจจุบัน จัดระเบียบมาแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 570 กิโลเมตร
ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวต่อไปว่า นอกจากการเดินหน้าโครงการสายใต้ดินอย่างต่อเนื่องแล้ว กฟน. ยังประกาศตัวเป็น the MetGE (เดอะเมทจ์) ซึ่งมาจากคำว่า “Metro Grid Enabler” เป็นการใช้นวัตกรรมล้ำสมัยเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มั่นคง ภายใต้หน้าที่กำกับ ดูแลจัดการ ให้คำปรึกษา อนุญาตการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ควบคุมระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พร้อมรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานสู่รูปแบบ Smart Metro มหานครแห่งอนาคต เพื่อสนับสนุนแนวคิดประเทศไทย 4.0 ภายใต้การดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ Smart Metro, Smart Metro Solar, Smart Super EV Multi Charging Port และ Smart Super EV Application นอกจากนี้ยังพัฒนา MEA Smart Life Application อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าเกี่ยวกับการขอรับบริการในด้านต่าง ๆ ของ กฟน.โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบค่าไฟฟ้า การชำระค่าไฟฟ้า และแจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้อง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กฟน. ยังคงขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ค่านิยม ระบบไฟฟ้ามั่นคง บริการมั่นใจ ห่วงใยสังคม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ ตอบสนองวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากล ซึ่งนอกเหนือจากการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินและการประกาศตัวเป็น the MetGE แล้ว กฟน. ยังดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการออกแบบและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในหน่วยงานราชการ ตลอดจนการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในภาคประชาชน เช่น การออกหน่วยให้บริการชุมชน การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้แก่สถานศึกษาและเยาวชนภายใต้โครงการ Energy Mind Award ซึ่งปีนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 10 รวมไปถึงในภาคธุรกิจอย่างโครงการ Energy Saving Building ซึ่งโครงการดังกล่าว ช่วยให้ กฟน. รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2559 ประเภทรางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น พร้อมๆ กับประเภทรางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น และรางวัลชมเชยนวัตกรรมดีเด่น จากผลงาน Field Force Management (FFM) ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยมของ กฟน. ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก้าวสู่วาระ 60 ปี กฟน. อย่างมั่นคงและยั่งยืน