ครม. อนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 10 วงเงินค้ำประกันรวม 50,000 ล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2566) เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 10 โดยอนุมัติงบฯ วงเงินรวมไม่เกิน 7,125 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการ ฯ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
- วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพที่ต้องการสินเชื่อ แต่หลักประกันไม่เพียงพอหรือมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินและสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
- วงเงินค้ำประกันรวม 50,000 ล้านบาท (ไม่เกิน 40 ลบ./ราย รวมทุกสถาบันการเงิน และการยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท)
- อายุการค้ำประกัน ไม่เกิน 10 ปี
ระยะเวลารับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
- ค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน รวมทั้งโครงการเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี และสามารถจัดสรรอัตรา ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อที่รัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละโครงการย่อยได้ตามความเหมาะสม
- การจ่ายค่าประกันชดเชย บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการ ( 10 ปี) โดย บสย. จะเริ่มจ่ายค่าประกันชดเชยครั้งแรกในปีที่ 2 ของการค้ำประกันและในปีถัดไปจนสิ้นสุดการค้ำประกัน
- การขอรับการชดเชย รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7,125 ล้านบาท
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ - มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 76,900 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ PGS ระยะที่ 10 ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการ PGS ระยะที่ 9 ซึ่งครั้งนี้ ได้เพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายให้รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กด้วย (SSMEs) ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการ PGS ระยะที่ 9 สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs แล้ว 37,823 ราย และเกิดสินเชื่อจำนวน 187,494 ล้านบาท