จากกรณีปัญหาเรือประมงขนาดเล็กเครื่องมือพาณิชย์ในพื้นที่ จ.สตูล ต้องหยุดเรือเนื่องจากในทะเลมีกฎหมายทับซ้อนกัน 2 ฉบับ คือกฎหมายประมงและกฎหมายอุทยานฯจนทำให้เรือประมงขนาดเล็กเครื่องมือพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดไม่เกิน 25 ตันกรอสนั้นไม่สามารถออกทำมาหากินได้ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ในการทำประมง เพราะพื้นที่กฎหมาย 2 ฉบับทับซ้อนกันและพื้นที่ จ.สตูล เป็นพื้นที่ที่มีเกาะแก่งมากมาย และเมื่อออกทำประมงก็เสี่ยงถูกจับ จนกระทั่งเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เรือประมงถูกจับไปแล้วจำนวน 27 ลำ และชาวประมงเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
และกระทั่งล่าสุดเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 28 ก.พ.66 ทางกลุ่มเรือประมงตัดสินใจนำเรือปิดปากอ่าวบริเวณปากคลองปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหา โดยมีการตั้งเต็นท์และนำเรือจากหลายพื้นที่ทั้ง อ.เมือง อ.ละงู และพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาสมทบกว่า 100 ลำ ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขปัญหาจะยุติการเดินเรือเส้นทางดังกล่าวต่อไป ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเรือท่องเที่ยวและเรือทุกชนิดที่จะเข้าออกบริเวณดังกล่าว
นายชาตรี ณ ถลาง รอง ผวจ.สตูล พร้อมด้วยปลัด อ.ละงู ชุดสืบสวน สภ.ละงู ได้ลงไปดูในที่เกิดเหตุพร้อมขอต่อรอง เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่กำลังแก้ปัญหาให้ แต่จะรีบเร่งทันควันนั้นไม่ได้ และขอให้มีการเปิดเส้นทางเพื่อไม่ให้กระทบต่อกลุ่มประมงพื้นบ้านและเรือนักท่องเที่ยวที่เข้า-ออกในวันนี้ ซึ่งทางกลุ่มผู้เรียกร้องขอให้เร่งแก้ปัญหาเพราะเดือดร้อนจริงๆ
ด้านนายสมบัติ พัทคง ชาวประมง กล่าวว่า พวกตนทำมาหากินกันอย่างสุจริตและยึดถือกฎหมายประมงมาตลอด ไม่ว่าออกกฎหมายอย่างไร แต่พวกเราเป็นเรือขนาดเล็กแต่มีเครื่องมือประมงพาณิชย์จึงเข้าข่ายประมงพาณิชย์หมด แต่เรือของเราไม่สามารถออกไปในทะเลลึกได้ เพราะไม่สามารถต้านคลื่นลมที่มีความสูงมากกว่า 2 เมตรได้ ออกเกิน 25 ไมล์เราก็เจอไหล่ทวีปแล้ว เราทำประมงตามกฎหมายมาตลอด แต่เมื่ออุทยานประกาศเขต 10 ไมล์ทะเล ซึ่งกฎหมาย 2 ตัวเขตทับซ้อนกันอยู่เราไม่มีที่ทำกินสำหรับเราเลย การนำเรือมาปิดปากอ่าวบริเวณร่องน้ำปากคลองปากบารา ก็เพื่อแสดงออกว่าให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาให้เพราะเราทำกินไม่ได้เลย เดือดร้อนกันหมด
“จึงอยากให้เห็นใจพวกเราบ้าง ต้องหยุดเรือนับเดือน ออกไปแล้วก็ต้องถูกจับ มันหมดที่ทำมาหากินกันแล้วแบบนี้ ที่ผ่านมา เราไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร แต่หากภาครัฐยังนิ่งเฉยไม่เห็นใจพวกเรา ดังนั้นเราก็จำเป็นที่จะต้องปิดทั้งหมด โดยเรือที่ได้รับความเดือดร้อนมีประมาณ 400 ลำ และขณะนี้มีเรือจากอำเภอต่างๆ เข้ามาสมทบประมาณ 100 ลำ เพื่อร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในครั้งนี้ด้วย” นายสมบัติกล่าว ล่าสุดทางกลุ่มชาวประมงแจ้งว่าหากไม่มีการแก้ปัญหา พวกเขาอาจจะต้องปิดเส้นทางการเดินเรือทั้งหมดในช่วงหลัง 08.00 น.ของวันที่ 1 มี.ค.66 ต่อไป