ตามกฎหมายได้บังคับให้ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินทุกปี ซึ่งผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้
ทั้งนี้ ใครที่เป็นเจ้าของหรือครอบครองที่ดินอยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีไหน จะถือว่าเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีสำหรับปีนั้น โดยผู้เสียภาษีจะได้รับจดหมายแจ้งการประเมินภาษีว่าต้องจ่ายค่าภาษีทั้งหมดเป็นจำนวนเงินเท่าไร หรือหากที่ดินมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันหลายคน เจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนจะได้รับจดหมายแจ้งการประเมินค่าภาษีทั้งหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จากนั้นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจะต้องนำไปเสียภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี
แต่ล่าสุดในปี พ.ศ.2566 นี้ ได้มีมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และขยายระยะเวลาการเสียภาษีที่ดินออกไป ซึ่งแต่ละประเภทที่ดินได้ลดภาษีเท่าไร และมีเวลาเตรียมตัวภาษีได้ถึงวันไหน สามารถอ่านได้จากบรรทัดต่อจากนี้
โดยปกติกฎหมายกำหนดให้ที่ดินแต่ละประเภท เสียภาษีตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. เกษตรกรรม
หากเป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม จะสียภาษีในอัตราตั้งแต่ 0.01-0.1% โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย
1.1 บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราดังนี้
มูลค่าที่ดิน : 0-50 ล้านบาท
อัตราภาษี : ได้รับการยกเว้นภาษี
ภาษีที่ต้องเสีย : -
มูลค่าที่ดิน : 50-125 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.01%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 100 บาท
มูลค่าที่ดิน : 125-150 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.03%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 300 บาท
มูลค่าที่ดิน : 150-550 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.05%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 500 บาท
มูลค่าที่ดิน : 550-1,050 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.07%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 700 บาท
มูลค่าที่ดิน : 1,050 ล้านบาทขึ้นไป
อัตราภาษี : 0.1%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 1,000 บาท
1.2 นิติบุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราดังนี้
มูลค่าที่ดิน : 0-75 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.01%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 100 บาท
มูลค่าที่ดิน : 75-100 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.03%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 300 บาท
มูลค่าที่ดิน : 100-500 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.05%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 500 บาท
มูลค่าที่ดิน : 500-1,000 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.07%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 700 บาท
มูลค่าที่ดิน : 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
อัตราภาษี : 0.1%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 1,000 บาท
2. ที่อยู่อาศัย
เมื่อที่ดินถูกปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย เจ้าของกรรมสิทธิ์จะต้องเสียภาษีในอัตราตั้งแต่ 0.02-0.1% โดยแบ่งตามประเภทการเป็นเจ้าของได้ดังนี้
2.1 ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว จะต้องเสียภาษีตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราดังนี้
มูลค่าที่ดิน : 0-50 ล้านบาท
อัตราภาษี : ได้รับการยกเว้นภาษี
ภาษีที่ต้องเสีย : -
มูลค่าที่ดิน : 50-75 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.03%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 300 บาท
มูลค่าที่ดิน : 75-100 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.05%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 500 บาท
มูลค่าที่ดิน : 100 ล้านบาทขึ้นไป
อัตราภาษี : 0.1%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 1,000 บาท
2.2 ผู้ที่เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว จะต้องเสียภาษีตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราดังนี้
มูลค่าที่ดิน : 0-10 ล้านบาท
อัตราภาษี : ได้รับการยกเว้นภาษี
ภาษีที่ต้องเสีย : -
มูลค่าที่ดิน : 10-50 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.02%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 200 บาท
มูลค่าที่ดิน : 50-75 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.03%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 300 บาท
มูลค่าที่ดิน : 75-100 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.05%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 500 บาท
มูลค่าที่ดิน : 100 ล้านบาทขึ้นไป
อัตราภาษี : 0.1%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 1,000 บาท
2.3 ผู้ที่เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป จะต้องเสียภาษีตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราดังนี้
มูลค่าที่ดิน : 0-50 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.02%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 200 บาท
มูลค่าที่ดิน : 50-75 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.03%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 300 บาท
มูลค่าที่ดิน : 75-100 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.05%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 500 บาท
มูลค่าที่ดิน : 100 ล้านบาทขึ้นไป
อัตราภาษี : 0.1%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 1,000 บาท
3. พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม
สำหรับที่ดินที่ใช้เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลักษณะ ร้านอาหาร ออฟฟิศ โรงแรม สำนักงาน มีอัตราภาษีทีต้องเสียตั้งแต่ 0.3-0.7% ดังนี้
มูลค่าที่ดิน : 0-50 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.3%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 3,000 บาท
มูลค่าที่ดิน : 50-200 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.4%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 4,000 บาท
มูลค่าที่ดิน : 200-1,000 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.5%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 5,000 บาท
มูลค่าที่ดิน : 1,000-5,000 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.6%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 6,000 บาท
มูลค่าที่ดิน : 5,000 ล้านบาทขึ้นไป
อัตราภาษี : 0.7%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 7,000 บาท
4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า
ในกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินแต่ไม่ได้นำมาทำประโยชน์ ปล่อยให้เป็นที่ดิกรกร้าง จะต้องเสียภาษีในอัตราภาษีตั้งแต่ 0.3-0.7% ดังนี้
มูลค่าที่ดิน : 0-50 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.3%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 3,000 บาท
มูลค่าที่ดิน : 50-200 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.4%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 4,000 บาท
มูลค่าที่ดิน : 200-1,000 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.5%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 5,000 บาท
มูลค่าที่ดิน : 1,000-5,000 ล้านบาท
อัตราภาษี : 0.6%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 6,000 บาท
มูลค่าที่ดิน : 5,000 ล้านบาทขึ้นไป
อัตราภาษี : 0.7%
ภาษีที่ต้องเสีย : ล้านละ 7,000 บาท
เนื่องจากภาระภาษีของผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีต่างๆ ค่อนข้างสูง และในปี’66 ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ถึงรอบที่จะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้กับเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
โดยมาตรการนี้จะให้ลดภาษีในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปีภาษี 2566
ตัวอย่าง : ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีมูลค่า 2 ล้านบาท
ภาษีอัตราปกติที่ต้องเสีย = 6,000 บาท
มาตรการลดภาษีที่ดินฯ 15% = 900 บาท
ภาษีที่ดินฯ คงเหลือ = 6,000 – 900 บาท
เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี’66 คงเหลือภาษีที่ต้องเสีย คือ 5,100 บาท
ทั้งนี้ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดภาษี 90% แล้ว เช่น สวนสัตว์ สวนสนุก สถานที่เล่นกีฬา จะไม่ได้รับการลดภาษีตามมาตรการลดภาษีที่ดินฯ เพิ่มเติมอีก
นอกจากผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะได้ลดภาษีที่ดินฯ แล้ว ยังมีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อตระเตรียมเงินชำระภาษีที่ดินฯ โดยขยายเวลาชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
1.ขยายกำหนดเวลาในการชำระภาษีตามจดหมายแจ้งการประเมินภาษี จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2566 ขยายเวลาถึงเดือนมิถุนายน 2566
2.ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการผ่อนชำระภาษี ดังนี้
- งวดที่ 1 จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2566 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2566
- งวดที่ 2 จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2566
- งวดที่ 3 จากเดิมภายในเดือนมิถุนายน 2566 เป็นภายในเดือนสิงหาคม 2566
สรุป
รู้แบบนี้แล้ว เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่าเพิ่งวางใจว่า ภาษีที่ต้องเสียไม่มากและมีเวลาหาค่าชำระภาษีอีกนาน เพราะถึงแม้จะมีมาตรการต่างๆ เข้ามาช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่เวลาไม่เคยคอยใคร หากเนิ่นนานไปอาจต้องเสียค่าปรับและจ่ายเงินเพิ่มโดยไม่จำเป็น