ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
หมูเถื่อนไม่สิ้นซาก เกษตรกรแบกไม่ไหว ราคาร่วงต่ำกว่าต้นทุน
03 มี.ค. 2566

“หมูเถื่อน” ฉลองครบรอบ 1 ปี อยู่เกลื่อนเมืองไทยไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 หลังจากที่กรมปศุสัตว์ประกาศพบโรคระบาด ASF ในประเทศเป็นครั้งแรก ขออนุมานว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกัน เพราะเป็นช่วงที่ราคาเนื้อหมูในประเทศปรับสูงขึ้นตามลำดับจากผลผลิตที่หายไปกว่า 50% ทำให้ปี 2565 ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 110-115 บาทต่อกิโลกรัม และในปีเดียวกันผู้เลี้ยงหมูต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้น 30% จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นแหล่งผลิตและส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก สงครามยังผลกระทบต่อราคาน้ำมันสูงขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบราคาหมูที่เกษตรกรขายได้กับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เรียกได้ว่าต้นทุนกับราคาขาย “พออยู่ได้”

แต่ปี 2566 สถานการณ์ต้นทุนกับราคาขายของเกษตรกร พลิกผันจาก “พออยู่ได้” เป็น “ขาดทุน” ในเวลาไม่ถึง 2 เดือน เพราะหมูเถื่อนครองตลาด ด้วยราคาต่ำเพียง 135-140 บาทต่อกิโลกรัม คำนวณต้นทุนและค่าขนส่งจากบราซิล เม็กซิโก สเปน เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ (ซึ่งเป็นประเทศต้นทางของหมูเถื่อน) น่าจะต่ำกว่าราคาขายประมาณ 50-60% เพราะเป็นชิ้นส่วนที่ประเทศเหล่านั้นไม่บริโภค หรือ เป็นหมูติดโรค ที่ลักลอบเข้ามาพร้อมของแถม เช่น สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ที่ไทยห้ามใช้เด็ดขาด เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้หมูเถื่อนถูกกว่าหมูไทย ปัจจุบันราคาหมูไทย เช่น หมูเนื้อแดงราคาตกจาก 200 บาทต่อกิโลกรัม เหลือเพียง 170-180 บาทเท่านั้น

ขณะนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะตัวแทนผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ เรียกร้องภาครัฐให้ปราบปราม “หมูเถื่อน” ให้สิ้นซาก เพื่อดึงราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งปัจุบันราคาทั่วประเทศลดลงอยู่ที่ 76-88 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาต้นทุนเฉลี่ยทั้งปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 100.70 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตที่ยังคงยืนในระดับสูง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงราคา 13.50 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยสูงสุดช่วงแรกของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ราคา 14 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นที่ราคายังคงยืนสูง เช่น กากถั่วเหลืองราคา 23.40-24 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ยังได้หารือกับกรมปศุสัตว์ เพื่อเร่งหาทางแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำ โดยเสนอให้เร่งปราบปรามหมูเถื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จัดระเบียบโบรกเกอร์หมู เพื่อควบคุมและป้องกันโรคระบาดระหว่างการขนส่ง เร่งส่งออกหมู และหาวิธีการรักษาเสถียรภาพราคาหมูทั้งระบบ โดยกระทรวงพาณิชย์ ต้องพิจารณาดูความสมดุลในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง ทั้งฟาร์ม โรงชำแหละ-พ่อค้าส่ง และปลายทางถึงผู้บริโภค เขียงหมู-ร้านค้า เนื่องจากเขียงหมูยังไม่ลดราคาในทิศทางเดียวกับราคาหน้าฟาร์ม ต้องพิจารณารอบด้านทั้งการผลิต ความต้องการและราคา ให้สมดุลตามกลไกตลาด

ปัญหาหมูราคาร่วงหนัก เป็นอีกหนึ่งปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งปราบปรามให้หมดไปโดยเร็ว เพื่อฟื้นฟูการเลี้ยงให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคและสร้างเสถียรภาพราคาในประเทศให้เป็นธรรมทั้งผู้เลี้ยงและผู้บริโภค โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่ยังคงยืนอยู่ในระดับสูง แต่เกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็กต้องขาดทุนหนัก และอาจต้องเลิกกิจการ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของไทยต่อเนื่อง ทั้งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่าผลผลิตหมูจะเพิ่มขึ้นจาก 15.5 ล้านตัว ในปี 2565 เป็น 18 ล้านตัว ในปี 2566 อาจจะไม่เป็นไปตามแผน เพราะราคาที่ตกต่ำ ไม่จูงใจให้เกษตรกรนำหมูเข้าเลี้ยงต่อเนื่อง

เมื่อรัฐบาลทราบดีแล้วว่าหมูเถื่อน คือ ตัวการทำให้ราคาหมูไทยร่วงหนัก ก็ต้องเร่งกำจัดและดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด โดยเฉพาะกรมศุลกากร ในฐานะผู้คุมกฎทุกด่านที่มีการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าผิดกฎหมายต้อง “หูไวตาไว” ต้องปฏิบัติงานด้วยความกระตือรือร้น โปรงใส และ “จับให้เจ๊ง” เช่นเดียวกับนโยบายกระทรวงเกษตรฯ เมื่อหมูเถื่อนสิ้นซาก กลไกตลาดทำงาน ผู้บริโภคอยู่ได้ ต่อลมหายใจผู้เลี้ยง ตามแนวทาง “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ”

ปราบดา มหากุศล นักวิจัยสินค้าเกษตร

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...