ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ชาวบ้านรวมตัว แจ้งความจับคณะกรรมการกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุ เหตุบริหารจัดการไม่โปร่งใส
07 มี.ค. 2566

ช่วงบ่ายวันที่ 5 มี.ค. 66 ชาวบ้านใน ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กว่า 200 คน ที่เป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่ ได้เดินทางไปที่ สภ.กระชอน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เพื่อเข้าพบ พ.ต.ท. สุนันท์  เจริญจิตร สารวัตรใหญ่ สภ.กระชอน และร.ต.อ. สมคิด ไม้สูงเนิน สว.(สอบสวน) สภ.กระชอน  เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่ จำนวน 15 คน โดยเฉพาะนางสุนันท์  พันธุ์สวัสดิ์ อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 99/1 หมู่ 5 ต.ดงใหญ่อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องเงินของกองทุน  ถึงแม้ว่าจะมีนายประคอง  พูนแก้ว อายุ 74 ปี บ้านเลขที่ 283 หมู่ 10 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เป็นประธานกองทุนก็ตามแต่คนที่บริหารจัดการทุกอย่างคือนางสุนันท์ฯ ที่บริหารจัดการไม่โปร่งใส ไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับสมาชิกที่เสียชีวิตตามที่ตกลงกันไว้ และไม่สามารถหาหลักฐานมาชี้แจงเกี่ยวกับการทำบัญชีของกองทุนฯตามที่เคยตกลงกันไว้เมื่อครั้งที่แล้วที่สมาชิกได้มาร้องขอความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยเหลือ โดยการมาในครั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลานานชาวบ้านจึงได้มีการเตรียมอาหารมารับประทานกันด้วยเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุทั้งนั้น

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ก.พ.66 ชาวบ้านกลุ่มนี้ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่  ได้รวมตัวกันมาที่สภ.กระชอน เพื่อร้องขอความเป็นธรรมและแจ้งความดำเนินคดีกับนายประคอง  พูนแก้ว อายุ 74 ปี บ้านเลขที่ 283 หมู่ 10 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ประธานกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่ และกรรมการกองทุนฯอีก 2 คน คือนางสุนันท์  พันธุ์สวัสดิ์ อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 99/1 หมู่ 5 ต.ดงใหญ่อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และนายนิยม เพ็ญชอบ อายุ 71 ปี บ้านเลขที่ 79 หมู่ 7 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา  ที่บริหารจัดการเงินเรื่องเงินชดเชยให้กับญาติผู้เสียชีวิตไม่โปร่งใสและไม่ได้เงินชดเชยตามที่ตกลงกันไว้

       ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน และผู้นำหมู่บ้านประกอบไปด้วยกำนันตำบลดงใหญ่  ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้านเข้าไปคุยถึงสาเหตุในห้องทำงานของสารวัตรใหญ่ โดยนายอภิรักษ์ ดีแก้ว กำนันตำบลดงใหญ่ เล่าว่า ชาวบ้านในตำบลดงใหญ่ทั้ง 20 หมู่บ้านกว่า1พันคนได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่ มาหลายปีแล้ว บางคนเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนฯเมื่อพ.ศ. 2536 บางคนก็ทำให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพื่อหวังจะได้เงินค่าปลงศพหรือเงินชดเชยเมื่อเสียชีวิตไป โดยจากเดิมสมาชิกแต่ละคนจะต้องเสียค่าสมัครแรกเข้าคนละ 50 บาท แต่ปัจจุบันต้องเสียค่าสมัครคนละ 1,000 บาท และจะต้องจ่ายเงินให้กับกองทุนเพื่อนำไปจ่ายให้กับให้กับญาติสมาชิกที่เสียชีวิตศพละ 20 บาท โดยในแต่ละเดือนจะต้องจ่าย 2 ครั้ง คือทุกวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือน ครั้งละ 100 บาทในหนึ่งเดือนจะต้องจ่าย 200 บาท หรือเท่ากับค่าทำศพผู้เสียชีวิต 10 ราย ถึงแม้ในแต่ละเดือนจะมีสมาชิกเสียชีวิตกี่รายก็ตาม โดยจะมีตัวแทนของหมู่บ้านมาเก็บเงินกับสมาชิกเป็นประจำและนำเงินที่เก็บได้ไปส่งให้กับประธานและกรรมการกองทุนฯ และทางกรรมการก็จะนำไปมอบให้กับญาติผู้เสียชีวิตรายละ 45,000 บาท ตามข้อตกลงที่ให้ไว้ ซึ่งก็เป็นที่พอใจของสมาชิกทุกคนเพราะจะได้มีเงินมาใช้จ่ายในการจัดงานศพ   ต่อมาเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกองทุนเริ่มไม่จ่ายเงินตามที่ตกลงไว้ บางรายได้ค่าชดเชยเพียง สองหมื่น , หนึ่งหมื่น น้อยสุดคือห้าพันบาทและยังค้างจ่ายอีก 8 ราย ล่าสุดได้ยินมาว่าทางคณะกรรมการจะยุบกองทุนทั้งหมดเพราะไม่มีเงินจ่ายให้สมาชิก  ทำให้สมาชิกทั้งหมดไม่พอใจเพราะสมัครเป็นสมาชิกมานานบางคนส่งมาเป็นหลักแสน หลักหมื่น จะมายุบกองทุนแบบนี้ไม่ได้จึงได้รวมตัวกันมาขอความช่วยเหลือจากหน้าที่ตำรวจให้ช่วยเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับสมาชิกไม่ให้เสียเงินฟรี

       ด้านนายประคอง  พูนแก้ว อายุ 74 ปี ประธานกองทุนฯเล่าว่าตนและกรรมการชุดนี้ได้มารับช่วงต่อจากกรรมการชุดเดิมตั้งแต่ พ.ศ.2544  ก่อนหน้านี้มีสมาชิกทั้งหมด 1,575 คน โดยในแต่ละเดือนสมาชิกจะต้องจ่ายเดือนละ200 บาท เพื่อเป็นค่าปลงศพให้กับสมาชิกที่เสียชีวิตรายละ 20 บาท คือจะเฉลี่ยว่าเดือนละ 10 ศพ ถ้าเดือนไหนผู้เสียชีวิตไม่ถึง 10 รายก็จะนำเงินที่เหลือไปฝากธนาคารเข้าบัญชีกองทุนซึ่งทำแบบนี้เรื่อยมา  ต่อมามีสมาชิกเสียชีวิตมากขึ้นเกินกว่าเดือนละ 10 รายทำให้ต้องไปถอนเงินในบัญชีออกมาจ่ายให้กับสมาชิก จนเงินในบัญชีหมดและเก็บกับสมาชิกได้ไม่ครบตามจำนวนทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยให้กับสมาชิกได้ตามข้อตกลงที่ว่ากันไว้ จนทำให้สมาชิกลาออกจนเหลือแค่ 390 คน และก็พากันรวมตัวกันมาที่โรงพัก

        ซึ่งในวันนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและกำนัน ผู้นำหมู่บ้าน ร่วมกันหาข้อยุติให้กับทั้งหมดว่า ให้ประธานและคณะกรรมการกองทุนรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยให้กับญาติผู้เสียชีวิตที่ค้างจ่ายอยู่ 8 ราย โดยเบื้องต้นจ่ายรายละ 5พันบาท  และให้ไปตรวจสอบว่าสมาชิกที่ยังเหลืออยู่มีทั้งหมดกี่คนและจะเยียวยาหรือจ่ายเงินคืนให้กับสมาชิกได้คนละเท่าไหร่ และให้ชี้แจงบัญชีต่างๆให้กับสมาชิกทราบภายในวันที่ 17 ก.พ.66 และในวันนั้นยังไม่ได้มีการแจ้งความหรือตั้งข้อหาใดๆ  แต่ให้ทางคณะกรรมทั้ง 3 คนทำตามข้อเสนอที่ให้ไว้  โดยคณะกรรมการยอมทำตามข้อเสนอ และชาวบ้านก็พอใจในระดับหนึ่งและแยกย้ายกันกลับ

ล่าสุดนายยนต์ เตาสูงเนิน อายุ 75 ปี บ้านเลขที่ 64/2 หมู่ 1 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นคราชสีมา ตัวแทนชาวบ้านเล่าว่าแต่เมื่อถึงวันนัดหมายคือวันที่ 17 ก.พ. 66 ทางคณะกรรมการกองทุนฯไม่พร้อมที่จะมาชี้แจงจึงขอเลื่อนเป็นวันที่ 3 มี.ค. 66 โดยให้ตัวแทนสมาชิกไปพร้อมกันที่ศูนย์ดำรงธรรม อ.พิมาย ปรากฏว่าทางคณะกรรมการกล่าวหาว่าสมาชิกติดค้างเงินกองทุนฯจำนวนกว่า 3 ล้านบาท จึงทำให้กองทุนฯไม่มีเงินมาจ่ายให้กับญาติของผู้เสียชีวิต  ส่วนทางศูนย์ดำรงธรรมก็บอกว่ากองทุนฯดังกล่าวเป็นกองทุนฯเถื่อนจะต้องให้ยุบแล้วมาทำใหม่ให้ถูกต้อง ทำให้สมาชิกไม่พอใจเพราะจะไม่ได้เงินเยียวยาและเงินที่ทุกคนเสียไป บางคนทำมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนคือพ.ศ. 2536  จึงรวมตัวกันมาแจ้งความในครั้งนี้ แล้วกรรมการฯยังจะมาหาว่าสมาชิกติดค้างเงินจำนวน 3,154,440 บาท อีกซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะถ้ายอดเงินมากขนาดนั้นจะต้องมีคนเสียชีวิตมากถึง 157,722 คน   เพราะจ่ายเงินศพละ 20 บาท  ซึ่งสมาชิกจ่ายเป็นปกติทุกเดือน เพิ่งจะพากันหยุดส่งเมื่อปลายเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยสมาชิกได้เก็บใบเสร็จไว้เป็นหลักฐานด้วย นายยนต์ฯกล่าว

  ด้านนางจำเริญ  คบบุญ อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 13 หมู่ 10 ต.กระชอน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา หนึ่งในผู้เสียหายเล่าว่าสมัครเป็นสมาชิกตั้งแต่ พ.ศ. 2536 คิดเป็นเงินมากมากว่า 6 หมื่นบาทที่จ่ายมา   แต่ตอนนี้ทางศูนย์ดำรงธรรมบอกว่าเป็นกองทุนเถื่อนฯ ต้องยุบ ซึ่งพวกตนก็เป็นชาวบ้านธรรมดา มีแต่ตาสีตาสาทั้งนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นกองทุนเถื่อน  เป็นแบบนี้เหมือนชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม แทนที่จะได้เงินเยียวยาหรือเงินชดเชยจากคณะกรรมการบ้าง   ตอนนี้ชาวบ้านสงสัยว่าคณะกรรมการบางคนทำไมมีเงินซื้อที่ไร่ที่นาจำนวนมาก เกรงว่าจะเอาเงินของสมาชิกไปใช้จ่ายผิดประเภทอยากให้ออกมาชี้แจงให้สมาชิกทราบไม่ใช่จะโยนความผิดให้สมาชิกแบบนี้

        ส่วนน.ส.ทอง  แผนพิมาย อายุ 41 ปี บ้านเลขที่ 118/1 หมู่ 20 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา  หนึ่งในสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อนเล่าว่า  ล่าสุดทางคณะกรรมการกองทุนแจ้งว่ามีสมาชิกทั้งหมด 2,053 คน และแยกออกมาเป็น 20 หมู่บ้าน โดยแจกแจงว่า แต่ละหมู่บ้านต้องจ่ายเงินให้กับกองทุน หมู่บ้านละหลายแสน รวมเป็นเงินทั้งหมดกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ บางคนยังมีชีวิตอยู่แต่ทางกรรมการก็แจ้งชื่อว่าเสียชีวิตเพื่อจะไปเก็บเงินกับสมาชิก   บางคนไม่มีตัวตนอยู่ในหมู่บ้านก็เอาชื่อมาใส่  โดยสามารถตรวจสอบได้จากใบเสร็จรับเงินที่คณะกรรมการออกให้ในแต่ละเดือน แบบนี้คือทำงานไม่โปร่งใสให้ข้อมูลเท็จ ทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันมาแจ้งความดำเนินคดีในวันนี้  ระหว่างที่รออยู่ที่ด้านหน้าโรงพักชาวบ้านได้เตรียมอาหารมารับประทานกันด้วยเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุทั้งนั้น

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความไว้โดยให้ตัวแทนแต่ละหมู่บ้านเขียนชื่อสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อนของหมู่บ้านตนเองและนำเอกสารหลักฐานต่างๆที่มีมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ  และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้รวบรวมพยานหลักฐานและจะได้เรียกตัวคณะกรรมการกองทุนฯทั้ง 15 คนมาสอบสวน ถ้าพบว่ามีความผิดจริงก็จะได้ดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...