ภาพ/ข่าว ตราด นายสมโภชน์ ทัศมากรณ์ เจ้าของสวนทุเรียน ม.2 บ้านด่านเก่า ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งปัจจุบันสำนักงานเกษตรอำเภอเกาะช้างได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร ให้เยาวชน ประชาชน และเกษตรกรมาศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตร เปิดเผยว่าสวนทุเรียนของตนเองมีพื้นที่เพียง 8 ไร่เศษเท่านั้น ปัจจุบันปลูกทุเรียนพันธุ์ชะนีเป็นหลัก โดยปลูกมานานกว่า 50-60 ปีแล้ว แต่เมื่อประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา ราคาทุเรียนพันธุ์ชะนีตกต่ำ ตนจึงทำการตัดยอดทุเรียนสูงจากโคนต้นประมาณ 2 เมตร เมื่อยอดทุเรียนแตกออกมาใหม่ จึงนำกิ่งตาพันธุ์ทุเรียนสายพันธุ์อื่นมาเสียบยอดแทน โดยต้นแรกใช้ 3 สายพันธ์ คือหลงลับแล พวงมณี ก้านยาว และยอดของพันธุ์ชะนีไม่ต้องติดใหม่ ให้ยอดแตกใหม่เจริญเติบโตขึ้นมาเอง จะ ได้ทุเรียนสายพันธุ์รวมกัน 4 สายพันธุ์ หลังจากนั้นจะบำรุง ดูแล รักษาตามปกติ จนเวลาผ่านไปเพียง 3 ปี ยอดทุเรียนสายพันธุ์ใหม่คือ หลงลับแล พวงมณี ชะนี และก้านยาว จะเริ่มผลิดอก ออกผล กลายเป็นผลผลิตทุเรียน 4 สายพันธุ์ในต้นเดียว และดูแลรักษามาจนทุกวันนี้
นายสมโภชน์ยังบอกอีกว่า ขณะเดียวกันตนก็ตัดยอดทุเรียนพันธุ์ชะนี และติดตาสายพันธุ์อื่นผสม ซึ่งก็มีทั้งพันธุ์หมอนทอง และสายพันธุ์อื่นๆ แต่จะมีผลผลิตพันธุ์ชะนีเป็นหลัก ต้นละ 2- 3 สายพันธุ์ ปัจจุบันทุกต้นสมบูรณ์ดี และอยู่ระหว่างออกผลผลิตทั้งสวน นายสมโภชน์ บอกว่าปัจจุบันราคาทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้างราคาแพง ขายจากสวนราคากก.ละ 200 บาทอีกประมาณกว่า 2- 3 สัปดาห์ ผลผลิตจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว สวนตนเองมีทุเรียนรวมกันประมาณ 200 ต้นส่วนใหญ่จะขายออนไลน์ และขายหน้าสวนให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวเกาะช้างได้เลือกซื้อและเที่ยวชมสวนกันด้วย สำหรับเรื่องการตลาด และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆทางการเกษตรมาใช้ในการบริหารจัดการสวนทุเรียนจะให้ นายเฉลิมพล ทัศมากรณ์ บุตรชาย ตนเองเป็นผู้ทำการตลาด โดยลงเพจ เฟสบุ๊คการขาย ให้นักท่องเที่ยวสั่งซื้อ ด้วยการบรรจุกล่องส่งไปรษณีย์ ราคาขายส่งกก.ละ 200 บาท โดยใช้ระบบการบันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจะบันทึกและแสดงผลของทุเรียนแต่ละต้น แต่ละจุดว่า ทุเรียนต้นไหน จุดไหน ผลผลิตแก่ได้ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว ซึ่งจะมีความแม่นยำมาก เป็นการควบคุมคุณภาพไม่ให้เก็บเกี่ยวทุเรียนอ่อนไม่มีคุณภาพไปในตัวด้วย
นอกจากนี้ตนเงยังวางผังระบบการให้น้ำภายในสวนทุเรียนเล็อคๆและควบคุมการให้น้ำด้วยการสั่งงานทางมือถือ ด้วยการตั้งเวลาว่า เวลาไหน วันไหน จะให้น้ำล็อคไหน เวลานานเท่าไร ถึงเวลาระบบจะรันไปทำให้การให้น้ำสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินเข้าสวนให้น้ำแบบสมัยก่อน ขณะเดียวกันการให้ปุ๋ยทุรียนก็จะใช้วิธีละลายปุ๋ยให้ทางน้ำเหมือนการให้น้ำตามปกติ ก็จะช่วยลดต้นทุนการให้ปุ๋ยแบบให้ทางดินลงกว่า1-2 เท่าตัวเลยทีเดียว จะช่วยลดปัญหาทุเรียนไม่มีคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่า มาตราด มาเกาะช้าง จะได้บริโภคทุเรียนคุณภาพ ไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
ข่าวภูมิภาค จ.ตราด ภาพ/ข่าว ณัฐวุฒิ สวัสดิ์วารี