นายแพทย์นรเทพ อัศวพัชระ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ตามมาตรฐานการรักษา ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจะช่วยลดการเกิดความพิการและเสียชีวิตได้ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ จึงได้เลือกจังหวัดระนองเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาต้นแบบการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเชิงรุก โดยนำรถ Mobile Stroke Unit ของสถาบันประสาทวิทยา มาประจำการที่โรงพยาบาลระนอง เป็นเวลา 1 เดือน (1 - 28 กุมภาพันธ์ 2566) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และเป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานเครือข่ายได้พัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งการส่งต่อที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์นรเทพ กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจาก นายแพทย์อรุณ สัตยาพิศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนอง ถึงผลการปฏิบัติการของหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) สถาบันประสาทวิทยา ว่าสามารถช่วยผู้ป่วยหลอดเลือดสมองจังหวัดระนองได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยผู้ป่วย เป็นชายไทย อายุ 51 ปี ขณะขับรถที่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เกิดอาการผิดปกติ แขนขาข้างขวาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ญาติจึงโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทีมพยาบาล EMS โรงพยาบาลกระบุรี ได้เข้ารับผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุภายในเวลา 10 นาที
พบผู้ป่วยแขนขาข้างขวาอ่อนแรง ยกได้เล็กน้อย พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง จึงรีบส่งตัวผู้ป่วย พร้อมทั้งประสานทีมแพทย์และพยาบาลประจำ mobile stroke unit ออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วย ณ ตลาดกลางยางระนอง ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด
ใช้ระยะเวลาเดินทางเพียง 25 นาที แพทย์ได้ทำการ CT Scan และให้ยาละลายลิ่มเลือดบนรถ Mobile Stroke Unit ก่อนส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการดูแลต่อเนื่องที่โรงพยาบาลระนอง ซึ่งผู้ป่วยหลังได้รับยาอาการดีขึ้น แขนขาขวากลับมามีแรงปกติ พูดชัดเจน และใช้ชีวิตได้ตามปกติ
“สิ่งสำคัญที่สุดของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง คือการเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วที่สุด ดังนั้น หากพบผู้ที่มีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชาบริเวณใบหน้า ปวดมึนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัวแบบเฉียบพลัน ขอให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 หรือนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที อย่ารอว่าอาการจะดีขึ้น เพราะยิ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วเท่าใด ยิ่งลดความเสี่ยงของภาวะสมองขาดเลือด และลดความรุนแรงของการทุพพลภาพได้มากขึ้นเท่านั้น” นายแพทย์นรเทพกล่าว