“สุพัฒนพงษ์”เผยแนวโน้มค่าไฟงวดหน้า พ.ค. - ส.ค. ต้องไม่ปรับขึ้น และเหลืออัตราเดียวทั้งครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ชี้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เหมาะสม เผยหากมีภาระต้นทุนเพิ่มเล็กน้อยจากค่า FT ที่ปรับขึ้นฝ่ายนโยบายดูแลได้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 ว่าค่าไฟฟ้าจะเหลืออัตราเดียวทั้งภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม จากเดิมที่ใช้ค่าไฟฟ้า 2 อัตรา คือ ค่าไฟสำหรับครัวเรือนอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และค่าไฟของภาคอุตสาหกรรม 5.33 บาทต่อหน่วย
โดยการปรับลดลงของภาคอุตสาหกรรมมาเท่ากับภาคครัวเรือนนั้นเป็นไปตามแนวนโยบายที่ต้องช่วยดูแลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ที่ทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบ
ส่วนค่าไฟฟ้าของภาคครัวเรือนซึ่งอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ในงวดนี้ในฐานะผู้กำกับนโยบายก็ได้ให้นโยบายกับหน่วยงานที่จัดทำค่าไฟฟ้าคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วว่าไม่ควรที่จะปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าคือ ก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ปรับเพิ่มเป็น 98 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวมค่าไฟฐานแล้ว ทำให้ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.75 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3 บาทต่อหน่วย นั้น ในส่วนนี้มองว่าฝ่ายนโยบายสามารถดูแลได้ โดยตอนนี้ภาระสำคัญที่ต้องดูไม่ให้เกิดผลกระทบกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ที่ต้องได้รับการชดเชยจากการแบกรับค่า FT เมื่อปีที่ผ่านมา กว่าแสนล้านบาท ซึ่งก็ต้องดูว่าจะชดเชยกลับคืนให้ กฟผ.ได้อย่างไร
"ราคาค่าไฟในงวดหน้า ในฐานะผู้กำกับนโยบาย ได้ให้นโยบายไปแล้วว่าค่าไฟฟ้าไม่ควรที่จะปรับขึ้นราคาไฟก็จะกลับมาใช้อัตราเดียวเท่ากันระหว่างภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรมซึ่งต้องดูแลทั้งสองภาคส่วนโดยภาคครัวเรือนต้องดูแลในค่าครองชีพ และภาคอุตสาหกรรมก็ต้องดูแลในช่วงที่ภาวะการส่งออกของประเทศไม่ดี" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว