เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ด้วยวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งทางโรงพยาบาลช้างสาขาภาคใต้จังหวัดกระบี่ ส่วนอนุรักษ์ช้างจังหวัดกระบี่ ฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สำนักสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมู่ที่ 7 บ้านท่าเรือ ตำบลเพหลา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ นายมฆวัฒน์ ขุนทิพย์ลาย ผู้จัดการส่วนอนุรักษ์ช้างจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยสัตว์แพทย์หญิง รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร หัวหน้างานบริการช้างโรงพยาบาลช้างสาขาภาคใต้จังหวัดกระบี่ ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงาน และเจ้าของช้าง ร่วมกันจัดงานวันอนุรักษ์ช้างไทย ครั้งที่ 13ประจำปี 2566 โดยได้รับเกียรติจาก นายสฤษฎ์พงศ์ เกี่ยวของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะคณะกรรมการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสิทธิ์สัตว์ ร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย
พิธีเริ่มด้วยการทำบุญทางศาสนาพราหมณ์ฮินดู ศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธ เพื่อเสริมชะตาดวงและปัดกวาดเคราะห์ร้ายให้กับช้างป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาล จำนวน 7 เชือก และช้างเลี้ยงอีก 2 เชือก รวมถึงทำพิธีบังสุกุลให้กับช้างที่เสียชีวิตไปแล้ว จำนวน 22 เชือก และจัดเลี้ยงอาหารคาวหวานแด่พระภิกษุสงฆ์ และจัดเลี้ยงอาหารโต๊ะจีนซึ่งเป็นผลไม้นานาชนิดให้กับช้างที่ป่วยได้กินกันอย่างอิ่มอร่อย ท่ามกลางประชาชน ผู้สนใจช้าง นำบุตรหลานมาร่วมเป็นจำนวนมากเพื่อป้อนอาหารให้กับช้างอย่างใกล้ชิด
ด้วยสถาบันคชบาลแห่งชาติ โดยศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ได้จัดตั้งโรงพยาบาลช้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2536 จึงให้วันดังกล่าวเป็นวันอนุรักษ์ช้างไทย เนื่องจากช้างมีความสำคัญต่อคนไทย และเป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองของไทยมายาวนาน จึงได้สถาปนาวันอนุรักษ์ช้างไทยขึ้น เพื่อให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง อนุรักษ์ช้าง มีความหวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความรักความเอ็นดูช่วยเหลือช้างมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ช้างเลี้ยงในประเทศไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป การจัดงานวันอนุรักษ์ช้างไทย ของโรงพยาบาลช้างสาขาภาคใต้จังหวัดกระบี่ เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้หันมาสนใจช้าง เกิดความรักความหวงแหนช้าง ทั้งให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือและอนุรักษ์ช้างให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการยกย่องให้เกียรติช้างว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อชาวไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับโรงพยาบาลช้างสาขาภาคใต้จังหวัดกระบี่ จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับและดูแลช้างในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่ยังมีสภาพพื้นที่ป่าคงเหลืออยู่เพียงพอ สามารถใช้พื้นที่เพื่อเลี้ยงช้างและบริบาลช้างป่วย ช้างชรา ช้างที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลดังกล่าวที่จังหวัดกระบี่ เพราะมีความสะดวกในการเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดต่างๆ เพื่อที่จะได้ดูแลรักษาช้างที่บาดเจ็บจากการทำงาน ช้างที่ประสบภัย ช้างที่ประสบอุบัติเหตุ ช้างที่มีปัญหาติดเชื้อโรคต่างๆได้อย่างทั่วถึง และยังเป็นสถานที่สำหรับการฝึกงาน การศึกษาค้นคว้า การดูงาน ให้กับนักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการด้านช้างอีกด้วย
ส่วนผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลช้างสาขาภาคใต้จังหวัดกระบี่ ตั้งแต่ปี 2533 – 2563 มีช้างป่วยเข้ารับการรักษา 540 เชือก 2,507 เคส และออกหน่วยบริการคลินิกช้าง 4,906 เชือก ช้างเสียชีวิตระหว่างการรักษา 22 เชือก และปี 2564 – 2565 มีช้างป่วยเข้ารับการรักษา 69 เชือก 163 เคส ออกหน่วยบริการคลินิกเคลื่อนที่ 590 เชือก 697 เคส ช้างเสียชีวิตระหว่างการรักษา 1 เชือก ปัจจุบันมีช่างป่วยอยู่ระหว่างการดูแลรักษา จำนวน 7 เชือก ส่วนใหญ่เป็นช้างของเอกชนที่นำมาทำการรักษาทั้งหมดตั้งแต่เปิดโรงพยาบาลช้างสาขาภาคใต้จังหวัดกระบี่ ขึ้นในปี 2553
กระบี่