วันนี้ 14 มีนาคม 2566 ผู้ส่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วย นายอนุชา วรหาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายวรรณะ วีระผาสุก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้ากลุ่มงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี และผู้เกี่ยวข้อง เข้ากราบนมัสการพระเทพปริยัติโสภณ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีและเจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ร่วมถวายสังฆทานและจตุปัจจัย พร้อมทั้งอัญเชิญพระพุทธไชยชุมพล (หลวงพ่อทรายแดง) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง (วัดใต้) ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดกาญจนบุรี ไปประดิษฐาน ณ กระทรวงสาธารณสุข ตามดำริของนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัดทุกจังหวัดมาประดิษฐาน ณ ห้องพระประจำกระทรวงสาธารณสุข (พื้นที่อาคาร 7 ชั้น 8 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจทางพุทธศาสนา ในวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2566 นี้
พระพุทธไชยชุมพล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยศิลาแลง สมัยทวาราวดี (ได้มีการลงรักปิดทองในภายหลัง) ขนาดหน้าตัดกว้าง 2.25 เมตร ความสูง 2.75 เมตร ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่
วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) เป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ระหว่างสงครามไทยรบกับพม่ามาแต่โบราณ ส่วนมากทัพพม่าจะต้องยกทัพมาทางด่านพระเจดีย์ ๓3 องค์ ผ่านตรงเข้าจังหวัดกาญจนบุรีแทบทุกครั้ง และกองทัพไทยที่ยกออกไปต่อต้านทัพพม่าก็จะต้องมาพักแรมประชุมพล ที่ตำบลปากแพรก หรือบริเวณอาณาเขตวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ไทยได้ทำสงครามกับพม่า และมีการสู้รบกันที่จังหวัดกาญจนบุรี 2 ครั้ง ดังนี้
1.ไทยรบชนะพม่าที่ทุ่งลาดหญ้า (กาญจนบุรีเดิม) ช่วงสงคราม 9 ทัพ ในปี พ.ศ. 2328
2.ไทยรบชนะพม่าที่บ้านท่าดินแดง (อำเภอสังขละบุรี ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2329
ในการรบกับพม่าทั้งสองครั้งนี้ ตามประวัติศาสตร์ ได้บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พร้อมด้วยพระอนุชาธิราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงประชุมพลเหล่าทหารกล้า ณ ตำบลปากแพรก (บริเวณวัดไชยชพลชนะสงคราม) แล้วจึงกรีธาทัพออกสู่สมรภูมิรบ ปรากฏว่าได้รับชัยชนะทั้ง 2 ครั้ง เมื่อมีการประชุมพลที่นี่แล้วออกศึกสงครามได้รับชัยชนะกลับมาทุกครั้ง จึงเป็นที่มาแห่งนามวัดว่า “วัดไชยชุมพลชนะสงคราม” อันหมายถึงเมื่อมีการประชุมพลก่อนออกศึกสงคราม แล้วจะต้องได้รับชัยชนะทุกครั้งไป ถึงปากแพรกซึ่งเป็นที่ประชุมพล พร้อมพหลพลนิกรน้อยใหญ่ ค่ายคูเขื่อนขัณฑ์ทั้งนั้นไซร์ สารพัดแต่งไว้ทุกประการ จึงรีบรัดจัดโดยขบวนทัพ สรรพด้วยพยุหทวยหาญทุกหมู่หมวดกันไว้พร้อมการ ครั้นได้ศุภวารเวลา ให้ยกรื่นตามทางไทรโยคสถาน ทั้งบกเรือล้วนทหารอาสา จะสังหารอริราชพาลา อันสถิตอยู่ยังท่าดินแดง อนึ่ง เมื่อครั้งที่ประเทศไทยส่งทหารไปสู่สมรภูมิรบในสงครามเวียดนาม เริ่มตั้งแต่รุ่นจงอางศึก และ รุ่นเสือดำ จากกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ (เดิม ค่ายกาญจนบุรี) ก่อนออกเดินทาง จะต้องมาประกอบพิธีสักการะบูชาหลวงพ่อพระพุทธไชยชุมพล และลอดซุ้มประตูที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เพื่อเป็นสิริมงคล ให้แคล้วคลาด ปลอดภัย ได้รับชัยชนะทุกครั้งเหมือนอดีตที่ผ่านมา
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารนทร์ – รายงาน