"ปลัดฯณัฐพล”กำชับผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินสายสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ เพื่อย้ำแนวนโยบาย MIND“ใช้หัวและใจ”ทำงาน ให้กับทุกจังหวัดในการเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน เร่งขับเคลื่อนแผนงาน ปีงบประมาณ 2566 มุ่งยกระดับ“ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” ใน 4 มิติ
นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายแก่คณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเน้นการปฏิรูปการทำงานตามแนวคิด “MIND” ใช้หัวและใจทำงาน ปฏิรูปกระทรวง
ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน มุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ใน 4 มิติ โดยได้กำชับให้มีการตรวจติดตามราชการในพื้นที่สำนักอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดและเน้นย้ำนโยบาย MIND ที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมให้ไว้เป็นแนวการทำงานของทุกหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนแผนงานปี 2566 มุ่งยกระดับ“ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” ใน 4 มิติ คือ
1) ความสำเร็จทางธุรกิจ การปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับโลกอนาคต
2) การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งยามปกติและเมื่อเกิดวิกฤต
3) การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และ
4) การกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เน้นสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระตุ้นผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ทำงานร่วมกับชุมชน และเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง
“เป้าหมายของนโยบายมุ่งเน้นให้ใช้ MIND คือ “ใช้หัวและใจ” ทำงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยการ “ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” ย้ำให้ทุกโรงงานในพื้นที่ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพตอบโจทย์การทำงานมุ่งสู่ความสำเร็จทั้ง 4 มิติ ตามนโยบายของกระทรวงฯ ทั้งในด้านผลิตภาพและการดูแลสิ่งแวดล้อม ใส่ใจชุมชนและร่วมพัฒนาอาชีพ กระจายรายได้ให้ชุมชนโดยรอบโรงงาน” นายวิษณุ กล่าวสำหรับในการตรวจติดตามราชการปกติ รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ข้อเสนอแนะการตรวจราชการ ดังนี้ 1.เน้นย้ำการตรวจกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม โดยการเร่งรัดการตรวจกำกับดูแล โรงงานอุตสาหกรรมที่มีน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ และโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย (ซึ่งต้องการให้มีการตรวจกำกับ 100% ของโรงงานในพื้นที่) เพื่อป้องกันปัญหา
ข้อร้องเรียนของผลกระทบที่เกิดจากประกอบการของโรงงานต่อชุมชนโดยรอบโรงงาน 2.ให้เตรียมสำรวจและคัดเลือกสถานประกอบการเป้าหมาย เพื่อกรอกข้อมูลลงในระบบ I-Single Form พร้อมมอบหมายเจ้าหน้าที่ให้ศึกษาการใช้งานระบบ I-Single Form ให้มีความชำนาญ พร้อมสำหรับการเป็นที่ปรึกษาให้ความรู้การใช้งานระบบฯ ต่อสถานประกอบการในพื้นที่ 3.การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) เน้นย้ำให้เร่งประชาสัมพันธ์
ชี้แจงความสำคัญของการเข้าร่วมโครงการพร้อมเชิญชวนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมเตรียมยกระดับการขอรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวให้ผู้ประกอบการต่อไป 4.คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมโครงการ OPOAI-C โดยมุ่งเน้นส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานหรือสุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน เพื่อลดผลกระทบจากเรื่องร้องเรียนและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อโรงงาน
อุตสาหกรรม 5.ประชาสัมพันธ์ และคัดเลือก เสนอรายชื่อโรงงานในพื้นที่ ที่มีการประกอบการที่ดีเป็นแบบอย่าง
มีการดำเนินงานครบ 4 มิติ ตามนโยบายของ อก. เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นและอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมของกระทรวงอุตสาหกรรม และ 6.ปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของจังหวัด ให้อุตสาหกรรมจังหวัดรวบรวมข้อมูลปัญหาและอุปสรรคจากภาคเอกชนในพื้นที่และนำเสนอการแก้ไขผังเมือง เริ่มต้นตั้งแต่การประชุมภายในจังหวัดเพื่อให้มีต้นเรื่องจากจังหวัดเสนอเข้าไปสู่หน่วยงานส่วนกลาง เพื่อดำเนินการพิจารณาแก้ไขผังเมืองให้ตอบสนองต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป
ขณะเดียวกันหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมทุกคนเดินสายลงพื้นที่ย้ำให้กับทุกจังหวัด กำชับและร่วมกันขับเคลื่อนแนวนโยบาย MIND “ใช้หัวและใจ”ทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้แนวทางการปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเร่งขับเคลื่อนแผนงาน ปีงบประมาณ 2566