นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจ กระทบของภาคธุรกิจต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการภาคธุรกิจของไทย 600 ตัวอย่างทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งภาคเกษตร, ภาคอุตสาหกรรม, ภาคบริการ และภาคการค้า พบว่า
• สถานการณ์ด้านเงินเฟ้อ ที่มีผลกระทบกับธุรกิจ
ผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนใหญ่ถึง 92.5% ได้รับผลกระทบในด้านลบจากอัตราเงินเฟ้อสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขาย ต้นทุน และกำไร โดยวิธีการรับมือ คือ ปรับลดการซื้อวัตถุดิบ, ลดกำลังการผลิต และปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งในมุมมองของผู้ประกอบการ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 2.3%
• สถานการณ์อัตราดอกเบี้ย ที่มีผลกระทบกับธุรกิจ
ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ 53.6% ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่อีก 34.1% ได้รับผลกระทบในเชิงลบ โดยเฉพาะกระทบต่อยอดขาย ต้นทุน กำไร และหนี้สิน และเห็นว่าหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่ถึง 70% มองว่ามีโอกาสที่จะผิดนัดชำระนี้
• สถานการณ์อัตราค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีผลกระทบกับธุรกิจ
ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ 76.8% มองว่าได้รับผลกระทบเชิงลบ ซึ่งส่งผลต่อยอดขาย กำไร และพนักงาน/ลูกจ้าง โดยส่วนใหญ่ 77.4% มองว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน (328-354 บาท/วัน) มีความเหมาะสมแล้ว แต่หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 10% ผู้ประกอบธุรกิจเกือบ 80% ระบุว่ามีโอกาสจะปลด/เลิกจ้างพนักงาน และส่วนใหญ่ 53.9% บอกว่ามีโอกาสจะปรับขึ้นราคาสินค้า-บริการ
• สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ
ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ 89.2% ไม่ได้รับผลกระทบ และไม่ได้เตรียมการรับมือต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากผู้ที่ทำแบบสำรวจส่วนใหญ่ไม่ได้มีการค้าขายระหว่างประเทศ
• การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน
ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ 77.4% ได้รับผลดีจากการที่จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero Covid โดยส่งผลดีต่อทั้งยอดขาย กำไร และการลงทุน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังระบุว่า ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้า การปรับขึ้นราคาน้ำมัน
• สถานการณ์แบงก์สหรัฐฯ ล้มนั้น ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ 73.5% เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อย และส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้อยเช่นกัน แต่ในส่วนของผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่ 80% มองว่ามีโอกาสได้รับผลกระทบ
• การเลือกตั้งที่จะส่งผลต่อธุรกิจ
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 40% มองว่าจะส่งผลในทางบวก เช่น มีเงินสะพัดมากขึ้น ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้น เกิดความเชื่อมั่นในด้านการเมือง ส่วนผู้ที่มองว่าจะเกิดผลกระทบในทางลบต่อธุรกิจ มี 11.5% เนื่องจากกังวลต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเมือง และแนวนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง โดยเฉพาะกรณีการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือ หรือบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่
1. ดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่สูงเกินไป โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เช่น ไม่ปรับขึ้นค่าพลังงาน, ต้นทุนอัตราดอกเบี้ย, ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น
2. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้
3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และในประเทศให้เหมาะสม เพื่อเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐฏิจให้ฟื้นตัวได้ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน
4. ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และอ่อนค่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการส่งออกให้ขยายตัว
5. ดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย โดยให้ธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้อย่างดี และมีเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างหนี้ หากมีปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การทำโพลนี้ขึ้น เพื่อต้องการจะดูว่าก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเดือนส.ค.66 นั้น ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพอหรือไม่ และมองว่าอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจของไทย
โดยจากผลการสำรวจจะพบว่า ภาคธุรกิจมองว่า "ต้นทุน" เป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่เกิดจากอัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนที่เกิดจากการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขาย และกำไรของธุรกิจ
"ผู้ประกอบการมองว่า ปัจจุบันยอดขายยังไม่กระเตื้องมาก เพราะโดนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มดีขึ้นจากการท่องเที่ยว และมีการค้าขายได้มากขึ้นจากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกที่ซึมๆ และการส่งออกที่ยังไม่เด่น มันดึงกำลังซื้อออกไปจากระบบ รวมถึงความกังวลเรื่องค่าไฟแพง เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจโลกถดถอย และปัญหาแบงก์ล้มในต่างประเทศ จึงทำให้คนยังระมัดระวังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ก็ตาม" นายธนวรรธน์ กล่าว
แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ มองว่าตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 เป็นต้นไปสถานการณ์จะค่อยเริ่มดีขึ้น และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนได้ในไตรมาสที่ 4
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ภาคธุรกิจกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลว่า หากภายหลังการเลือกตั้งแล้วนโยบายไม่ได้รับการยอมรับ หรือมีเหตุตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้วมีภาพความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะได้รับการยอมรับจากสังคมมากน้อยเพียงใด
เนื่องจากในการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ อาจจะเกิดเหตุการณ์ได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแลนด์สไลด์ การเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เหตุการณ์นอกสภา นโยบายรัฐบาลจะเป็นอย่างไร เหล่านี้ล้วนสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน จึงทำให้ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ เป็นช่วงของการ Wait and See
"การลงทุน หรือต่อยอดการลงทุน จะเป็นสถานการณ์ Wait and See ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งตัวขับเคลื่อนประเทศจะยังไม่ใช่การลงทุนมากนัก โดยเฉพาะการลงทุนระยะสั้น แต่ถ้าเป็นการลงทุนระยะยาว เชื่อว่าจะค่อยๆ ทยอยเห็น" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมมองว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้น่าจะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น แต่อยู่ภายใต้กติกา มีการรณรงค์หาเสียง ต่อสู้กันในเชิงการเมืองที่ค่อนข้างดุดัน เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านประสงค์จะเป็นพรรครัฐบาล ภายใต้นโยบายแลนด์สไลด์ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องการจะมีที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯให้มากที่สุดเช่นกัน ส่งผลให้มีเม็ดเงิน มีการใช้จ่ายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สะพัดมากในช่วง 1 เดือนครึ่งก่อนการเลือกตั้งในทุกเขตการเลือกตั้ง รวมแล้วอย่างน้อย 1-1.2 แสนล้านบาท กระตุ้น GDP ปีนี้ได้ราว 0.5-0.7% จากเดิมที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดราว 5-6 หมื่นล้านบาท
โดยหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้ว เสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นตัวสำคัญในการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดีตามที่หลายฝ่ายต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผ่านไปด้วยดี จัดตั้งรัฐบาลได้ รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีนโยบายเศรษฐกิจเป็นที่ถูกใจ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างเด่นชัดในไตรมาส 4 เป็นต้นไป และทั้งปี ภาคเอกชนยังมองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.35-3.82% ซึ่งอยู่ในกรอบเดียวกับที่ ม.หอการค้าไทยประเมินไว้ที่ 3-4% ในปีนี้ โดยภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีเม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเข้ามาช่วยให้เงินสะพัดในช่วงไตรมาส 2 และ 3
"เมื่อมีรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีในเดือนส.ค. การแต่งตั้ง ครม. แถลงนโยบายต่อสภา น่าจะเกิดขึ้นราวปลายไตรมาส 3 การนำงบประมาณไปพิจารณา จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มชัดเจน จึงทำให้ภาคธุรกิจเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นในไตรมาส 4" นายธนวรรธน์ กล่าว