ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
อดีตนักสิทธิมนุษยชนชี้ไม่รับ23เด็กไร้สัญชาติผิดกม.
22 มี.ค. 2566

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุงหนังสือ กล่าวว่า จากกรณีนักเรียนจำนวน 23 ราย ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทย จากพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าเรียนต่อชั้นอนุบาล 1-2 ที่ โรงเรียนแห่งหนึ่งใน ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยโรงเรียนอ้างว่า การปฏิเสธไม่รับเด็กเข้าเรียนของโรงเรียนเป็นไปตามประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ได้ออกประกาศเรื่องมาตรการเกี่ยวกับการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ลงวันที่ 13 ม.ค. 66 สั่งห้ามมิให้โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 รับบุคคลดังต่อไปนี้เข้าเป็นนักเรียน คือ 1. ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่พักอาศัยและมีชื่ออยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว หรือศูนย์อพยพ 2. คนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย และ 3. บุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ เดินทางไปกลับบริเวณชายแดน ซึ่งการกระทำไม่รับเด็กเข้าเรียนในโรงเรียน และประกาศของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งให้สถานศึกษาทุกแห่งมีหน้าที่ในการรับเด็กทุกคนที่อยู่ในวัยการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ เข้าเรียนในสถานศึกษา การจัดการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐาน เป็นไปตามประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่ยมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษาและความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งประกาศ คสช. ฉบับนี้ ยังมีผลบังคับอยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่มีการประกาศยกเลิก

นอกจากนี้ ยังขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 ก.ค. 2548 ที่ขยายโอกาสทางการศึกษา เป็นเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศ รวมทั้งบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย สามารถเข้าเรียนได้ โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา รวมทั้งจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษา ซึ่งจัดการศึกษาเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในอัตราเดียวกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่จัดสรรให้แก่เด็กไทย

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดูแลสิทธิทางการศึกษาและจัดเงินอุดหนุนรายหัวแก่เด็กทุกคนในประเทศไทยเป็นอย่างดี ตามหลักการศึกษาเพื่อปวงชน หรือ Education for all จนได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศและสหประชาชาติ ซึ่งแต่เดิมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 และโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนก็ดำเนินการรับเด็กทุกคนเข้าเรียนเป็นปกติตลอดมา แต่การออกประกาศและไม่รับเด็กเข้าเรียนอาจเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ ทั้งละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งมีความผิดทางทางอาญาและทางวินัยอีกด้วย

"ขอให้กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้บังคับบัญชาและกำกับดูแล กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 และโรงเรียนที่ไม่รับเด็กเข้าเรียน ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายของรัฐอย่างถูกต้องต่อไป" นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า การให้ความรู้กับครูในพื้นที่โรงเรียนต่างๆ ในการรับเด็กนักเรียน ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เป็นเรื่องสำคัญ โดยที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายที่ให้เด็กนักเรียนในสถานศึกษา มีสถานะทางทะเบียนที่ถูกต้อง และได้รับการรับรองการเป็นบุคคล คือ มีบัตรประจำตัว ที่ออกโดยสำนักทะเบียน หากเด็กนักเรียนมีสัญชาติไทย ก็จะได้รับบัตรประจำตัวประชาชน แบบคนไทย แต่หากไม่มีสัญชาติไทย ก็จะได้รับบัตรแบบบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ ไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะกลุ่มเลขตัว G ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการออกให้ชั่วคราว จำเป็นต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เป็นเลข 13 หลัก ตามระบบทะเบียนราษฎร ของกระทรวงมหาดไทย.

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...