เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาปัญหาเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ขนาด 5,083 ไร่ ตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด ในคดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ได้ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน และ อธิบดีกรมที่ดิน ว่าละเลยต่อหน้าที่ในการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กม.ที่ 375-650 พร้อมขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินค่าเสียหาย 700 กว่าล้านบาท
ศาลปกครองกลางให้เหตุผลว่า คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริง ว่า มีการออกโฉนดที่ดิน รวมเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งสิ้น จำนวนประมาณ 772 ฉบับ กรณีจึงเป็นความปรากฏขึ้นจากการที่ รฟท. ร้องขอให้อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ว่าได้มีการออก หนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบ พบข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน อธิบดีกรมที่ดินก็สามารถมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินไปก่อนได้ โดยไม่จำต้องรอให้ตรวจสอบพบหนังสือ แสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมดหรือพบข้อเท็จจริงจนชัดแจ้งแล้วจึงจะมีคำสั่งแต่งตั้ง ดังนั้น กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดินจึงละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในการตรวจสอบถึงความถูกต้องการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณที่พิพาทว่า เป็นการออกโดยทับซ้อนกับที่ดินของ รฟท. หรือไม่ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีความชำนาญเฉพาะด้านและเป็นผู้จัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ไว้ทั้งหมด ข้อกล่าวอ้างว่า รฟท. ไม่สามารถจัดหา แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา หรือไม่สามารถถ่ายทอดแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาได้ ไม่ใช่เหตุผลที่ กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดินจะไม่ดำเนินการ ตามมาตรา 61 ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของกรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดินจึงฟังไม่ขึ้น และหากพบว่ามีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินที่จะมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ โดยไม่จำต้อง ให้ รฟท. ไปฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดินร่วมกันเพิกถอนคำสั่งออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่เขากระโดงและขับไล่ผู้ครอบครองที่ดินที่เป็นข้อพิพาทได้ เนื่องเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินจะดำเนินการมีคำสั่งตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาปัญหาเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ตามที่เห็นสมควร
ดังนั้น แม้ศาลได้วินิจฉัยในเบื้องต้นแล้วว่า การที่อธิบดีกรมที่ดินไม่ดำเนินการตามมาตรา 61 เป็นการละเลยต่อหน้าที่ แต่การที่จะมีคำสั่งเพิกถอนในที่ดินหรือไม่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เพราะที่ดินพิพาทในคดีนี้ยังไม่มีการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินและคืนสิทธิในที่ดิน และไม่ปรากฏว่า รฟท. ได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะใด จึงยังไม่อาจถือได้ว่า รฟท. ได้รับความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินทำละเมิดต่อ รฟท. ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรมที่ดินจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นจำนวนเงิน จำนวน 707,595,034 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 58,966,253 บาท ให้แก่ รฟท. แต่อย่างใด