วันที่ 5 เมษายน 2566 ณ บ้านโปโล หมู่ 13 ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง นำคณะผู้บริหารกรมประมง ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (สัตว์น้ำจืด) ของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลาดุกบิ๊กอุยบ้านโปโล จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้มีการรวมกลุ่มกันเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการเพาะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า “โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่”(สัตว์น้ำจืด) จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ภายใต้การดำเนินโครงการฯ ของสำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกาฬสินธุ์ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของโครงการฯ ที่กรมประมงดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 โดยได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อเพาะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ตลาดมีความต้องการสูง ราคาดี และได้ดำเนินการเสริมศักยภาพเพื่อยกระดับผลผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกภายใต้โครงการฯ รวมทั้งสิ้น 30 ราย อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผ่าน 7 กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1. การสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมเกษตรกร ทั้งก่อนและหลังเพื่อวิเคราะห์และวางแผนการผลิตให้ตรงกับบริบทต่าง ๆ อย่างเหมาะสม 2. จัดทำแผนพัฒนารายแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมูลค่า และการจำหน่ายผลผลิต 3. พัฒนาองค์ความรู้ โดยจัดฝึกอบรมให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่หลักสูตรการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี และหลักสูตรการรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ และการแปรรูปสัตว์น้ำจืด 4. สนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งสัตว์น้ำพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มอัตรารอด และจุลินทรีย์ ปม.1 สำหรับปรับปรุงคุณภาพน้ำ 5. ส่งเสริมการวางแผนการตลาด พร้อมจัดหาช่องทางการจําหน่ายและช่วยเหลือการกระจายสินค้าให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ 6. ยกระดับมาตรฐานสินค้าและสร้างมูลค่าผลผลิต และ 7. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของโครงการฯ เดือนละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้ ผลดำเนินการที่ผ่านมา ปี 2565 ปรากฏว่า กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลาดุกบิ๊กอุยบ้านโปโล จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) จากกรมประมงครบทุกราย และสามารถ สร้างผลผลิตได้กว่า 4,663 กิโลกรัม/ปี สร้างรายได้ถึง 986,497 บาท/ปี โดยผลผลิตปลาดุกบิ๊กอุยส่วนใหญ่ถูกจำหน่ายผ่านแพปลาในท้องถิ่น ถึงร้อยละ 95 และเหลือสำหรับการแปรรูปร้อยละ 5 เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาดุก และครองแครงปลาดุก เป็นต้น
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับแผนระยะต่อไป กรมประมงจะเดินหน้าตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาแปลงทั้งด้านการเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าอาหารปลา การยกระดับมาตรฐานสินค้า เชื่อมโยงตลาด และการบริหารจัดการอย่างครบวงจร เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนต่อไป