วันนี้ 16 เม.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลตำบลทองผาภูมิ ร่วมกับพี่น้องในชุมชน จัดขบวนแห่สรงน้ำพระพุทธรูปทองคำและรูปหล่อองค์หลวงปู่สาย อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน จากเทศบาลผ่านตลาดไปยังวัดท่าขนุน เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมสรงน้ำพระ จากนั้นขบวนแห่ได้ร่วมพิธีทอดผ้าป่าและประเพณีอุ้มพระสรงน้ำที่จัดกันมาเป็นประจำทุกปี ที่บริเวณลานหน้าวัดท่าขนุน มีประชาชน นักท่องเที่ยวและศิษยานุศิษย์ร่วมสรงน้ำพระกันจำนวนมาก
พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลวงพ่อสาย อัคควังโส) วัดท่าขนุน พระเกจิชื่อดังกาญจนบุรี ศิษย์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ชาติภูมิ หลวงพ่อสาย อัคควังโส วัดท่าขนุน นามเดิมชื่อ “สาย ไกวัลศิลป์” เกิดวันอาทิตย์แรม 13 ค่ำ เดือน 11 ปีขาล ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2457 ที่ ต.หลานหลวง เขตนางเลิ้ง กรุงเทพฯ บิดาชื่อ “นายเพิ่ม” และมารดาชื่อ “นางจันทร์ ไกวัลศิลป์”
ช่วงวัยเยาว์ บิดา-มารดาส่งเสียให้เรียนจนจบชั้น ม.๘ และเข้ารับราชการในการรถไฟ จนเมื่อปี พ.ศ. 2457 ขณะนั้นอายุย่าง 32 ปี ขณะที่ยังรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่การรถไฟ ป่วยเป็นฝีประคำขึ้นรอบคอ ได้รักษาตัวโดยหมอแผนโบราณและแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็ไม่หาย
จึงเข้ากราบมอบตัวเป็นศิษย์ของพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทธสโร) เจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ท่านเมตตารักษาจนหายขาด อันเป็นเหตุให้เกิดความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา จึงขอบวชเป็นพระภิกษุ เข้ารับการอุปสมบทเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2488 ณ พัทธสีมาวัดเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี พระครูนิรันตสีลคุณ เจ้าอาวาสวัดเขาทอง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์น้อย วัดหนองโพ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ไชย วัดเขาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อัคควังโส”
จากนั้นย้ายมาจำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรมจากหลวงพ่อเดิม ที่วัดหนองบัว เป็นเวลา 5 พรรษา จนเมื่อหลวงพ่อเดิมมรณภาพลงในปี พ.ศ.2494 จึงออกเดินธุดงค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สำหรับวัดท่าขนุน ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ในสมัยนั้นมีหลวงปู่พุก อุตตมปาโล ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นชาวมอญ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี บุกเบิกสร้างวัดและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 1 ของวัดท่าขนุน จนท่านมรณภาพลงในปี พ.ศ.2472
ต่อมาหลวงปู่เต๊อะเน็ง โอภาโส พื้นเพเป็นชาวพม่า ได้รับเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดท่าขนุน จนถึงปี พ.ศ. 2494 ก่อนเดินทางกลับไปพม่า โดยไม่ได้กลับมาอีก
คณะสงฆ์ส่งพระภิกษุจากในเมืองกาญจน์มาช่วยดูแลวัดให้ แต่อยู่ได้ไม่นานก็หนีกลับไป เพราะทนไข้ป่าไม่ไหว วัดท่าขนุน จึงกลายเป็นวัดร้างอยู่ระยะหนึ่ง
กระทั่งวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2495 หลวงพ่อสาย เดินธุดงค์มาจากนครสวรรค์ ปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่ที่บริเวณวัดท่าขนุน ชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใส จึงให้การอุปัฏฐากเป็นอย่างดี จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2496 จึงได้ลาชาวบ้าน เดินธุดงค์เข้าไปในประเทศพม่า
ครั้นวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2496 เดินธุดงค์กลับจากพม่ามาถึงวัดท่าขนุน และอยู่จำพรรษาอยู่จนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ชาวบ้านซึ่งนำโดยนายบุญธรรม นกเล็ก นิมนต์ให้อยู่ต่อเป็นเจ้าอาวาส
จึงแนะให้นายบุญธรรม นำคณะชาวบ้านไปกราบขอกับหลวงปู่น้อย เตชปุญโญ (พระครูนิพันธ์ธรรมคุต) เจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์และเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแล จากนั้นจึงลาชาวบ้านเดินทางกลับไปที่วัดหนองโพธิ์
หลังออกพรรษา พ.ศ. 2497 นายบุญธรรมจึงนำศรัทธาชาวบ้านเดินทางไปนครสวรรค์กราบหลวงปู่น้อย เพื่อขอตัวหลวงปู่สายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงเดินทางกลับมาพร้อมกับคณะศรัทธาชาวบ้าน ถึงวัดท่าขนุนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 และเริ่มบูรณะวัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากพระวิสุทธิรังษี (ดี พุทธโชติ) วัดเหนือ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ตามหนังสือแต่งตั้งเลขที่ ๑/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๘
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน