สงกรานต์มอญ สังขละบุรี พิธีสรงน้ำพระรางไม้ไผ่ ณ เจดีย์พุทธคยา วัดวังก์วิเวการาม ความศรัทธาของชาวมอญบ้านวังกะที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในปีนี้ ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้าเจดีย์พุทธคยา อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นายปกรณ์ กรรณวัลลี ปลัดจังหวัดกาญจนบุรีเป็นประธานในประเพณีสรงน้ำพระ “สงกรานต์มอญ”ที่จัดขึ้นบริเวณหน้าลานเจดีย์พุทธคยา วัดวังก์วิเวการาม ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยมีนายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นาบอำเภอสังขละบุรี นายสุทธิวงศ์ เมฆฉาย ปลัดอาวุโสอำเภอสังขละบุรี พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนทั้งในและจากพื้นที่ใกล้เคียง ที่แต่งกายสวยงามด้วยชุดพื้นเมืองและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน
สำหรับการสรงน้ำจะเริ่มต้นด้วยการอัญเชิญพระพุทธรูปจากเจดีย์พุทธคยา โดยปีนี้นายปกรณ์ กรรณวัลลี ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้อัญเชิญพระพุทธรูป นายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี เป็นผู้อัญเชิญรูปหล่อหลวงพ่ออุตตมะ มายังปลายรางไม้ไผ่ หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะเริ่มสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยน้ำอบน้ำปรุงลอยด้วยดอกไม้ ตามการให้สัญญาณเทน้ำและหยุดเทจากผู้นำชุมชน จากนั้นพระสงฆ์จะเดินเรียงกันออกมาจากองค์เจดีย์ โดยมีพระมหาสุชาติ สิริปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการามเป็นผู้นำสรงน้ำพระองค์แรก และเดินเหยียบไปบนหลังชายผู้มีศรัทธาที่นอนคว่ำเรียงรายกันเป็นแถวตั้งแต่องค์เจดีย์มาจนถึงปลายรางไม้ไผ่เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำทีละรูปๆจนครบ 20 รูป รูปใดสรงเสร็จแล้วจะมีชาวบ้านผู้ชายมาช่วยกันอุ้มกลับไปยังองค์เจดีย์พุทธคยาเพื่อเปลี่ยนสบงต่อไป
หลังจากการสรงน้ำพระเสร็จสิ้นแล้ว ผู้เข้าร่วมงานได้มีการรดน้ำขอพร นายปกรณ์ กรรณวัลลี กับนายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำน้ำที่เหลือมาสาดเล่นกันอย่างสนุกสนาน และในปีนี้ได้รับการสนับสนุนรถน้ำจากเทศบาลตำบลวังกะเพื่อนำน้ำมาใช้ในกิจกรรมนี้อีกด้วย ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรจากจิตอาสาสังขละบุรีและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง
สำหรับพิธีกรรมสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรี ในวันนี้ (วันที่ 18 เมษายน 2566) เป็นวันยกฉัตรเจดีย์ ชาวบ้านจะรวมตัวกันที่ตลาดตั้งแต่เช้า แล้วเดินขบวนแห่กองผ้าป่า เครื่องไทยทาน และสำรับกับข้าวไปยังวัดวังก์วิเวการาม โดยชาวบ้านจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองอย่างสวยงาม เดินนำขบวนกองผ้าป่าและสำรับกับข้าวไปไว้ที่วัดก่อน จากนั้นจะตั้งแถวร่วมแห่ฉัตรยอดเจดีย์ทรายจากวัดไปยังเจดีย์ทรายที่บริเวณลานเจดีย์พุทธคยา และกลับไปยังศาลาวัดเพื่อสมาทานศีล ถวายภัตตาหารเพล ถวายผ้าป่า และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นอันสิ้นสุดพิธีอย่างเป็นทางการ ซึ่งประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรี นี้ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีประเพณีสุดงดงาม และมีเอกลักษณ์ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานรวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสืบสานประเพณีสงกรานต์ของชาวไทยเชื้อสายมอญบ้านวังกะ ปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ สร้างเสริมความรักสามัคคี ความเอื้ออาทรต่อกันในหมู่คณะรวมทั้งเพื่อให้เยาวชน ประชาชน เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญา พื้นถิ่น และร่วมกันอนุรักษ์ สืบทอดศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นให้คงอยู่สืบไปตลอดจนสามารถ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่
ในส่วนของรายงานการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ข้อมูลจากนายอุทัย ขันทอง รักษาราชการแทนปภ.จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุช่วงวัน 11- 16 เมษายน 2566 รวมทั้งสิ้น 55 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 56 ผู้เสียชีวิต 3 ราย
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน