นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า อยากให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาคำพูดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่บอกว่า "ประเทศที่หลับไหล ติดยึดอดีต จะเผชิญความเสี่ยงกับความถดถอยที่ยากจะหลีกเลี่ยง" จึงอยากถามว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในภาวะเช่นนี้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะการเมืองหลังการปฏิวัติที่ไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ รัฐธรรมนูญที่ย้อนยุคที่จะมี ส.ว. ลากตั้ง นายกคนนอก ฯลฯ แนวคิดที่จะทำลายพรรคการเมืองและนักการเมืองเพื่อรักษาอำนาจ อีกทั้งโรดแมปก็ยังเลื่อนลอยไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แนวคิดการบริหารราชการที่ติดยึดอดีตใช้ระบบข้าราชการเข้าครอบงำ แม้กระทั่งการบริหารเศรษฐกิจที่กรอบคิดยังไม่พัฒนา เช่น จะพัฒนาเป็นไทยแลนด์ 4.0 แต่กลับปิดกั้นความคิดเห็นและความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งรัฐบาลยังทำตัวผู้ความคุมและเป็นอุปสรรคขัดขวางกับการพัฒนาเทคโนโลยีเสียเองเหมือนที่ TDRI เตือน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่หากรัฐบาลในอนาคตไม่ปฏิบัติตามจะต้องติดคุก ซึ่งถามว่าหากดำเนินยุทธศาสตร์ไปไม่กี่ปี และโลกเปลี่ยนแปลงไป แต่ต้องยึดตามยุทธศาสตร์ 20 ปีนี้ จะเป็นการติดยึดอดีตใช่หรือไม่ ไม่อยากให้นำอนาคตของประเทศมาเป็นเครื่องมือเพื่อจะควบคุมการเมือง ไม่อยากให้ประชาชนคิดว่า คสช. ตั้งใจจะตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่คล้ายกับเป็นโปริตบูโรเหมือนจีนและโซเวียตขึ้นมาเพื่อควบคุมประเทศ แต่จะเป็นโปริตบูโรที่ดูแลผลประโยชน์ของคนรวย มากกว่าจะช่วยเหลือประชาชนส่วนใหญ่ที่รายได้น้อย ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลหากกรอบคิดของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ไม่พัฒนา
ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าประเทศได้ถดถอยไปมากแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 3 % กว่า และต่ำสุดในอาเซียนที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลภูมิใจนั้น หากดูรายละเอียดจะเห็นว่า การเจริญเติบโตไปกระจุกอยู่กับบริษัทใหญ่และคนมีฐานะดี เพราะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กำไรกันถึง 909,000 ล้านบาท โตกว่าปี 2558 ถึง 30.41% ซึ่งแปลว่าบริษัทใหญ่ๆเหมาเอาความเจริญเติบโตของประเทศไปทั้งหมดแล้ว คนจนจึงมีรายได้ติดลบและลำบากกันอย่างมาก ซึ่งตอกย้ำปัญหาความเลื่อมล้ำและจะสร้างปัญหาสังคมให้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โดยเป็นห่วงว่าคนจนจะทนกันไม่ไหว อีกทั้งยังพิสูจน์ให้เห็นว่าโครงการประชารัฐมีแต่จะทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้นแต่คนจนไม่ได้ประโยชน์อะไร ซึ่งรัฐบาลอาจจะไม่รู้ว่ากำลังถูกหลอกให้เอื้อประโยชน์กับคนรวยไม่กี่คน ซึ่งจะตอกย้ำช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้ขยายกว้างขึ้น และจะสร้างความเสี่ยงให้สังคมแตกแยกมากขึ้น ซึ่งเป็นความแตกแยกที่ไม่ได้เกิดจากการเมือง แต่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่ถูกบิดเพี้ยนไปโดยใช้รัฐบาลเป็นเครื่องมือ นอกจากนี้ธุรกิจ SME ก็เจ๊งกันระนาว แม้แต่ร้านอาหารยังต้องปิดกันกว่า 2,600 แห่ง ทำให้หนี้เสียในระบบธนาคารเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งรวมถึงหลายบริษัทได้เบี้ยวหนี้ BE กันเพิ่มขึ้น รวมถึง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดต่ำสุดในรอบ 10 เดือน สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่มีทิศทางจะฟื้น ยิ่งวันเลือกตั้งไม่แน่นอนยิ่งไม่มีใครอยากลงทุน ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณที่อันตราย หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไข สภาวะเศรษฐกิจจะค่อยถดถอยไปเรื่อยๆ เป็นเหมือนกบอยู่ในหม้อต้มน้ำที่ค่อยๆเดือดตามทฤษฏีกบต้ม ดังนั้นจึงหวังว่ารัฐบาลไทยและคนไทยจะรู้ตัว และเป็นกบที่โดดออกได้ทันก่อนภาวะน้ำต้มจะเดือด