ศาลปกครองสูงสุดสุด มีคำพิพากษาให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(สำนักงาน ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนคดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรทราบ กรณีไม่แสดงว่ามีนาฬิกาข้อมือและแหวนประดับหลายรายการ ต่อ ป.ป.ช.
รวมทั้งให้เปิดเผยความคิดเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคนที่รับผิดชอบในการไต่สวนดังกล่าว และรายงานการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ให้แก่นายวีระ สมความคิด ภายใน 15วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ได้มีคำวินิฉัยให้ สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนคดี พล.อ.ประวิตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามคำขอของนายวีระ และมีผลผูกพันให้สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.ต้องปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ดังนั้นการที่ สำนักงาน ป.ป.ช. และป.ป.ช.ไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแก่นายวีระ สมความคิด จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ทางศาลปกครองยังไม่ได้ส่งคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการมาให้สำนักงานป.ป.ช. แต่หากส่งมาถึงแล้วทางสำนักงานป.ป.ช. จะต้องสรุปเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณา ว่าศาลปกครองมีคำพิพากษาอย่างไร ให้เปิดเผยอย่างไร ส่วนจะเปิดเผยหรือไม่ถือเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการป.ป.ช.
“หากมีมติให้เปิดเผยตามคำพิพากษาของศาลทางสำนักงานก็ต้องเปิดเผย อย่างไรก็ตาม โดยปกติหากศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุด ป.ป.ช. ก็ปฏิบัติตามเพราะถือว่าศาลเป็นคนบอกให้เปิด เพราะฉะนั้น อะไรที่จะเกิดขึ้นศาลปกครองก็ต้องรับผิดชอบไปไม่เกี่ยวกับป.ป.ช” นายนิวัติไชยกล่าว