กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน 2566 เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดโครงการและกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ผังภูมิสังคม เป็นผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและในเชิงสังคมวิทยา ซึ่งจัดทำขึ้นด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด จัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo–social Map) ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวทางพระราชดำริ มาเป็นต้นแบบในการจัดทำผังภูมิสังคม แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน
กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าวในพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล ทั่วประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ตัวอย่างที่ได้นำแผนงานโครงการจากการจัดทำผังภูมิสังคมของตำบลคอโค มาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลคอโค อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์
โดยมีโครงการที่ภาคประชาชนในพื้นที่สามารถใช้แรงงานในการดำเนินการเองได้ คือ โครงการขุดลอกคลองระบายน้ำและฝังท่อคอนกรีต บ้านตะเคียน หมู่ที่ 3 ตำบลคอโค อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ระยะทางประมาณ 80 เมตร พร้อมวางท่อคอนกรีตระยะทาง 15 เมตร ซึ่งเป็นโครงการที่ภาคประชาชนในพื้นที่สละแรงงานในการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ และมีภาคเอกชนให้การสนับสนุนวัสดุท่อคอนกรีตและเครื่องจักรกล
มีผู้เข้าร่วมดำเนินงานประกอบด้วย จิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ นายอำเภอเมืองสุรินทร์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคอโค คณะกรรมการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ คณะทำงานระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน 7 ภาคีเครือข่าย และประชาชน เข้าร่วมดำเนินงานประมาณ 100 คน
การดำเนินงานโครงการในครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมมือกันดำเนินโครงการตามนโยบายการจัดทำผังภูมิสังคม ฯ แบบการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการนำร่อง เป็นต้นแบบ และตัวอย่างที่ดีให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป