บอร์ด กกพ.เคาะค่าไฟงวดพ.ค.-ส.ค. 66 เป็นเฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วยประเภทบ้านที่อยู่อาศัยได้ลดลง 2 สตางค์ต่อหน่วย ระบุรอลุ้น 4 ปัจจัยงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 66) ชี้ชะตาขาขึ้นหรือลง
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ดกกพ.) เพื่อพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด พ.ค.-ส.ค. หรืองวดที่ 2 ปี 66 ได้เห็นชอบตามที่อนุกรรมการการกำกับดูแลการปรับอัตราค่าบริการไฟฟ้าพิจารณากรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอทบทวนภาระค้างรับค่า Ft สะสม หรือ AF ที่ส่งผลให้ค่า Ft จากเดิมอยู่ที่ 98.27 สตางค์/หน่วย เป็น 91.19 สตางค์ต่อหน่วยหรือลดลงราว 7.08 สตางค์/หน่วยทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดิม 4.77 บาทต่อหน่วยเหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย โดยไม่ต้องเปิดรับฟังความเห็นเนื่องจากไม่ได้เปลี่ยนแปลงค่าสมมติฐานซึ่งจะมีผลในบิลค่าไฟทันวันที่ 1 พ.ค.นี้
“กฟผ.เสนอเงื่อนไขการรับภาระหนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนจากเดิมกำหนดชำระหนี้เป็น 6 งวดเป็น 7 งวดจากหนี้ที่เหลือกว่า 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งการยืดหนี้จะทำให้ กฟผ.ได้รับเงินลดลงจากเดิมราว 4,623 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรณีที่ภาคเอกชนได้เสนอขอให้มีการทบทวนสมมติฐานเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดต่ำลงอีกนั้นไม่สามารถพิจารณาได้ เนื่องจากหากปรับสมมติฐานดังกล่าวก็จะต้องไปปรับค่าสมมติฐานอื่นๆทั้งหมดทั้งค่าเงินบาท น้ำมันดิบดูไบที่อิงกับราคาก๊าซฯ ดังนั้นจึงต้องรอค่าจริงทีเดียว”
นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับค่า Ft งวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 66) ยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ 1. ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณที่เดิมที่ระบุว่าจะมีปริมาณก๊าซฯ เพิ่มจากเดิมราว 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือน มิ.ย.อาจต้องล่าช้าออกไปเป็น ก.ค. เพราะช่วงที่เกิดมรสุมทำให้การขุดเจาะก๊าซฯ ได้น้อย และเดิมปลายปีจะเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันก็ยังไม่ได้ยืนยันที่ชัดเจน 2. ก๊าซเมียนมาจะต้องจ่ายตามปกติ 3. ราคา LNG ตลาดโลก โดยยอมรับว่ายังคงมีความเสี่ยงช่วงปลายปีที่เข้าฤดูหนาวมักจะมีราคาแพง และ 4. สงครามการสู้รบจะเป็นอย่างไรหากมีการขยายพื้นที่ก็จะกระทบต่อการนำเข้าได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามกรณีที่มีผู้เสนอให้ยกเลิก Ft นั้นต้องเข้าใจว่าค่าไฟฟ้าปัจจุบันแบ่งเป็นค่าไฟฐานและค่า Ft โดยค่าไฟฐานจะเปลี่ยนแปลงทุก 4 ปีโดยเป็นการนำเงินลงทุนต่างๆ มาเป็นฐานคิด แต่ Ft จะนำเอาค่าเชื้อเพลิงหรือปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรือมีการสวิงมาคิด ซึ่งหากยกเลิกเท่ากับต้องนำปัจจัยนี้ไปบวกล่วงหน้าในค่าไฟฐานที่อาจจะแพงอย่างมากหรือต่ำลงเกินความเป็นจริงจนทำให้เกิดภาระอย่างมาก ส่วนกรณีที่คิด Ft ทุก 4 เดือนแล้วจะขอเปลี่ยนเป็นเร็วกว่านั้นต้องเข้าใจว่าเดิม Ft ก่อนหน้าคิดทุก 3 เดือนแต่ต่อมาเอกชนเป็นผู้เรียกร้องเพื่อให้ขยายเวลาเพราะต้องการนำไปพิจารณาวางแผนในการส่งออก ซึ่ง กกพ.ก็พร้อมที่จะรับฟังหากมีการเสนอมา