สาละ เป็นชื่อต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติทั้งตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน คือ พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นสาละ ก่อนตรัสรู้ในเวลากลางวันประทับใต้ต้นสาละและเวลาเย็นย้ายไปประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จนตรัสรู้ในเวลารุ่งเช้า และปรินิพพานระหว่างต้นสาละคู่ ต้นไม้ที่เรียกว่า สาละ ได้แก่ สาละอินเดียและสาละลังกา แต่เป็นไม้คนละต้นกัน
วันนี้ 30 เม.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เดินทางไปยังโรงแรมสมใจนึก หมู่ที่ 1 ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากได้ข้อมูลว่ามีต้นสาละออกดอกช่อสีชมพูอมเหลืองอย่างสวยงาม นายสมใจ มาโนช อายุ 86 ปี เจ้าของโรงแรมสมใจนึกและเจ้าของต้นสาละพร้อมกับนางสาวกฤติกา มาโนช ลูกสาว พาผู้สื่อข่าวไปชมต้นสาละที่ขึ้นอยู่หน้าห้องพักโรงแรม โดยออกดอกบานกลิ่นหอม ไม้ต้นขนาดสูง 15- 20 เมตร
คุณลุงสมใจ เจ้าของต้นสาละได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 30 ปีแล้ว ได้เดินทางไปกับคณะวัดเวฬุวัน โดยพระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ ที่ประเทศศรีลังกา และได้ต้นสาละลังกากลับมาจึงนำมาเพาะปลูกที่นี่หลายต้น และแบ่งให้กับวัดต่างๆ ตายไปบ้างก็มี ปัจจุบันเหลืออยู่ 2 ต้น ซึ่งต้องดูแลใส่ปุ๋ยเป็นอย่างดี ทุกปีดอกสาละจะออกเบ่งบานให้ชมความสวยงามในช่วงเช้า ซึ่งดอกสาละเป็นไม้ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ทั้งตอนประสูติ และปรินิพพาน จึงอยากเชิญชวนคนที่ผ่านไปมารวมถึงนักท่องเที่ยว แวะชมความสวยงามของต้นสาละ ของที่นี่ ซึ่งดอกสีจะไม่เหมือนกับที่อื่น เชิญทุกสามารถบันทึกภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้ นานๆ จะออกดอกสวยๆ เช่นนี้มาให้ได้เห็น ซึ่งก็ไม่ได้ให้เห็นทุกปี โดยตามลำต้นจะออกดอกเยอะมาก หลังจากนั้นสักระยะก็จะเป็นผลกลมๆ ข้างในจะเป็นเมล็ด สามารถนำไปเพาะเพื่อขยายพันธ์ แต่เคยนำไปเพาะแต่จะไม่ค่อยได้ผลมากนัก ต่างกับต้นแม่ที่ได้นำมาจากอินเดีย มาปลูกจะได้ดีกว่าตามที่เห็นนี้
สำหรับ ต้นสาละ เป็นคำสันสกฤต อินเดียเรียกต้นสาละว่า “Sal” เป็นไม้ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าทั้งตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีความสำคัญในพุทธประวัติดังนี้
ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ พระพุทธมารดาพระนางสิริมหามายาทรงครรภ์ใกล้ครบกำหนดพระสูติการ ทรงเสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อไปมีพระสูติการที่กรุงเทพวทหะ อันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมประเพณีพราหมณ์ เมื่อขบวนเสด็จมาถึงระหว่างทางกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ณ “สวนลุมพินีวัน” เป็นสวนป่าไม้ “สาละ” (ปัจจุบันคือตำบล “รุมมินเด” แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล) พระนางได้ทรงหยุดพักอิริยาบท ประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่งสาละ ขณะนั้นเองก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร ซึ่งตรงกับวันศุกร์ เพ็ญเดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี คำว่าสิทธัตถะแปลว่า “สมปรารถนา”
อีกตอนหนึ่งก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้ เมื่อพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวายหมดแล้ว ได้ทรงนำถาดทองที่ใส่ข้าวมธุปายาสนั้นเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา แล้วอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณ ขอให้ถาดทองนี้ลอยทวนกระแสน้ำแห่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วได้ทรงลอยถาดทองลงในแม่น้ำ ปรากฏว่าถาดทองนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำ จากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับยังควงไม้สาละ ตลอดเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็นก็เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ ประทับนั่งบนบัลลังก์ภายใต้ต้นโพธิ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ เวลารุ่งอรุณของวันเพ็ญเดือน 6
และตอนสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จถึงเขตเมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดพระที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ แล้วพระองค์ก็ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (นอนตะแคงขวาพระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวา) แล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน
ต้นสาละอินเดีย เป็นพืชในสกุล Shorea และอยู่ในวงศ์ DIPTEROCARPACEAE เช่นเดียวกับพะยอม เต็ง รัง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ความสูงประมาณ 10-25 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีน้ำตาลดำ แตกเป็นร่อง เป็นสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบ ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยว ดกหนาทึบ ใบรูปไข่กว้าง โคนใบเว้าเข้า ปลายใบหยักเป็นติ่งแหลมสั้นๆ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ขอบใบเป็นคลื่น ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่งและง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวอมเหลือง มีเกสรเพศผู้จำนวน ๑๕ อัน มีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงต้นฤดูร้อน ผลเป็นผลชนิดแห้ง แข็ง มีปีก 5 ปีก ปีกยาว 3 ปีกและปีกสั้น 2 ปีก แต่ละปีกมีเส้นตามความยาวของปีก 10-15 เส้น โคนปีกแนบติดผลมากกว่ากึ่งหนึ่งของผล มีขนสั้นรูปดาวปกคลุมประปราย
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง การเพาะเมล็ดจะได้ผลดีกว่าการทาบกิ่ง ตอนกิ่งและติดตา
ประโยชน์: ต้นสาละอินเดีย เป็นไม้เนื้อแข็งนิยมนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ทำเกวียน รวมถึงใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ต่างๆ เมล็ดใช้เป็นอาหารสัตว์ น้ำมันที่ได้จากเมล็ดนำมาทำเนย ใช้เป็นน้ำมันตะเกียง ใช้ทำสบู่ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณด้านสมุนไพร ยางใช้เป็นยาสมานแผล ห้ามเลือด แก้โรคผิวหนัง ตุ่มพุพอง ผลใช้แก้โรคทองเสีย ท้องร่วง
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน