กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตือนประชาชนที่จะกู้เงินออนไลน์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หลังได้รับการร้องเรียนว่า..ธุรกิจสินเชื่อให้กู้เงินผ่านช่องทางออนไลน์/โซเชียลมีเดีย ดูดเงินในบัญชีจนเกลี้ยง หลังทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพบอก ก่อนหน้าเห็นใบสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคลและใบทะเบียนพาณิชย์ทำให้เกิดความเชื่อถือ หลังโดนดูดเงิน..ตรวจเช็คเชิงลึกพบเป็นใบสำคัญฯ และใบทะเบียนพาณิชย์ปลอม ช้ำใจเพิ่มขึ้น!! มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนบุคคลไปกู้เงินนอกระบบ เจ้าหนี้โทรทวงหนี้ไม่เว้นวัน ย้ำหลายๆ รอบ ประชาชนต้องรู้ทันกลโกง ‘มิจฉาชีพออนไลน์’ ทุกรูปแบบ จะกู้เงินควรขอสินเชื่อจากสถาบันที่น่าเชื่อถือและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำคัญสุด!! ต้องไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว หรือถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชนให้กับใคร มิฉะนั้นจะเสียใจและเสียหายหนักมาก
นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า มีกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายมิจฉาชีพหลอกลวงโดยอ้างว่าเป็นธุรกิจให้บริการสินเชื่อ (เงินกู้) และมีการปลอมแปลงใบสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคลและใบทะเบียนพาณิชย์ โดยโฆษณาเชิญชวนประชาชนให้สมัครใช้บริการกู้เงินผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน และส่งต่อลิงก์เว็บไซต์ต่างๆ พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจจริง โดยแสดงใบสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคลและใบทะเบียนพาณิชย์ ทำให้ประชาชนเกิดการหลงเชื่อ และทำตามที่มิจฉาชีพบอก ท้ายที่สุดกลับไม่ได้รับบริการกู้เงินจากกลุ่มบุคคลดังกล่าว ซ้ำร้ายเงินในบัญชีที่มีอยู่โดนดูดจนเกลี้ยง หรือ หลอกให้โอนเงินค่าดำเนินการไปก่อนจึงจะโอนเงินกู้กลับไปให้ได้ หรือต้องรอรับรหัสในการขอกู้เงิน รอสักพัก.. โทรกลับหรือติดต่อผ่านโซเชียลมีเดียปรากฎว่าโดนบล็อกไม่สามารถติดต่อได้อีก ตรวจเช็คเชิงลึกพบเป็นใบสำคัญฯ และใบทะเบียนพาณิชย์ปลอม ช้ำหนักเข้าไปอีก!! มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนบุคคลและภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนที่ถ่ายส่งให้ทางโซเชียลมีเดีย ไปกู้เงินนอกระบบต่ออีกที..รู้ตัวเมื่อเจ้าหนี้โทรทวงหนี้ไม่เว้นวัน การกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก
ที่ผ่านมากรมฯ ได้เปิดให้บริการระบบตรวจค้นข้อมูลนิติบุคคล ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th >> บริการออนไลน์ >> บริการข้อมูลธุรกิจ >> DBD DataWarehouse+ และ แอปพลิเคชั่น DBD e-Service เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลขั้นพื้นฐาน สำหรับตรวจสอบสถานะความมีตัวตนของนิติบุคคล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งในการตรวจสอบนิติบุคคลว่ามีการจดทะเบียนกับกรมฯ ตามที่กฎหมายกำหนด
หากภาคธุรกิจและประชาชนต้องการทำธุรกรรมที่มีความละเอียดอ่อน เช่น ด้านการเงินหรือการขอสินเชื่อ จำเป็นต้องแสวงหาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ประชาชนส่วนหนึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อนด้านการเงินและต้องการใช้เงินเร่งด่วน มิจฉาชีพจึงอาศัยช่องว่างจากความเดือดร้อนนี้เข้ามาซ้ำเติม ดังนั้น การจะขอสินเชื่อจากแหล่งใด โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ประชาชนต้องเพิ่มความรอบคอบและระมัดระวังมากขึ้น โดยนอกจากจะต้องตรวจสอบการมีตัวตนของนิติบุคคลแล้ว ยังต้องตรวจสอบข้อมูลหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้บริการด้านการเงินด้วย เช่น รายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น โดยสามารถค้นหาข้อมูลโดยตรงจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ www.bot.or.th และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ www.sec.or.th อย่างไรก็ตาม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ ระบบ DBD DataWarehouse+ ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตการประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาไว้ในข้อมูลนิติบุคคลแต่ละราย โดยสามารถเลือกคลิกดูข้อมูลได้ที่หัวข้อ ‘ข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก’ จากหน้าแสดง ‘ข้อมูลนิติบุคคล’ อีกช่องทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องรู้ทันกลโกง ‘มิจฉาชีพออนไลน์’ ทุกรูปแบบ หากได้รับโฆษณาเชิญชวนให้ใช้บริการเงินกู้ผ่านทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องตั้งสติให้มั่น และไม่ประมาทโดยการให้ข้อมูลส่วนตัว ถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชนส่งให้ทางโซเชียลมีเดีย คลิกลิงก์ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ ซึ่งหากตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแล้วอาจทำให้สูญเสียเวลา เงิน หรือทรัพย์สินที่หามาอย่างยากลำบาก นอกจากนั้น ยังอาจถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวไปใช้โจรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะสร้างความเสียหายตามมา รวมถึงการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมาย อาจมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง และอาจเสี่ยงจากการติดตามหนี้สินที่อยู่นอกกฎหมายอีกด้วย ดังนั้น หากมีความรอบคอบตั้งแต่ต้นและไม่หลงเชื่อคำโฆษณาที่หลอกลวง จะเป็นการปิดประตูความเสี่ยงต่างๆ และปลอดภัยจากการสูญเสียทรัพย์สินที่อาจประเมินค่าไม่ได้” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD