นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังพื้นที่นาข้าว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเนื่องจากฝนตกหนัก ทำให้ข้าวที่ปลูกซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง คือ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 กข15 และ กข6 ที่อยู่ในระยะกล้าถึงแตกกอตายได้รับความเสียหาย กรมการข้าวจึงมีคำแนะนำชาวนาในการดูแลนาข้าว ดังนี้
กรณีที่ 1 นาข้าวถูกน้ำท่วมขังน้อยกว่า 3 วัน ข้าวยังไม่ตาย ชาวนาไม่จำเป็นต้องปลูกข้าวใหม่ ภายหลังฝนหยุดตกควรเร่งระบายน้ำออกจากแปลงนาให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้ข้าวได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นใส่ปุ๋ยในอัตราต่ำเร่งให้ข้าวแตกกอและมีใบใหม่ แล้วดูแลข้าวตามคำแนะนำปกติ
กรณีที่ 2 นาข้าวน้ำขังสูงมิดยอดต้นข้าวนานมากกว่า 3 วัน ข้าวตายเสียหายโดยสิ้นเชิง ชาวนาต้องปลูกข้าวใหม่ทดแทน โดยมีคำแนะนำ ดังนี้
1) หากนาข้าวสามารถระบายน้ำออกจากแปลงได้เร็ว ควรปลูกข้าวพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสงพันธุ์เดิม คือ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 กข15 หรือ กข6 วันปลูกที่เหมาะสม คือ ไม่เกินวันที่ 12 สิงหาคม 2560 เพื่อให้ทันเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวภายในปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม โดยควรไถเตรียมดินทำเทือกแปลงนาใหม่ ใช้วิธีการหว่านน้ำตม อัตราเมล็ดพันธุ์ 15 กก./ไร่ และใช้เทคโนโลยีการผลิต ตามคำแนะนำของกรมการข้าว อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวจะลดลงประมาณร้อยละ 20 เนื่องจากเป็นการปลูกข้าวล่าช้ากว่าปกติ
2) หากนาข้าวระบายน้ำออกจากแปลงได้ยาก และปลูกข้าวได้หลังวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ชาวนาต้องปลูกข้าวพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสงให้เร็วที่สุด ได้แก่ กลุ่มข้าวเหนียว เช่น พันธุ์ กข10 (อายุการเก็บเกี่ยว 130 วัน) สันป่าตอง 1 (อายุการเก็บเกี่ยว 130 วัน) กลุ่มข้าวเจ้าที่มีอายุการเก็บเกี่ยวปานกลาง 100-110 วัน และทนทานต่ออากาศหนาวเย็น เช่น พันธุ์ กข61 (อายุการเก็บเกี่ยว 75-100 วัน) กข57 (อายุการเก็บเกี่ยว 105-110 วัน) ชัยนาท 1 (อายุการเก็บเกี่ยว 120-130 วัน) เมื่อระดับน้ำลดลงให้เร่งเตรียมดิน และปลูกข้าวโดยวิธีหว่านน้ำตม โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตตามคำแนะนำของกรมการข้าวเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ก่อนปลูกข้าวรอบใหม่ทดแทน ชาวนาควรตรวจสอบชนิดพันธุ์และปริมาณเมล็ดพันธุ์ ที่ต้องการจากหน่วยงานกรมการข้าวในพื้นที่ หรือแหล่งเมล็ดพันธุ์ดีอื่นๆ ใกล้บ้าน และเฝ้าระวังการระบาดของหนอนกระทู้กล้าที่อาจจะระบาดกับข้าวปลูกใหม่หลังน้ำลดด้วย