กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยในช่วงสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน มีฝนตกและลมแรงในบางพื้นที่ อ้อยเป็นพืชหนึ่งที่อาจเกิดผลกระทบจากสภาพอากาศดังกล่าวโดยเฉพาะอ้อยปลูกใหม่และระยะอ้อยแตกกอ โดยศัตรูพืชชนิดแรกที่ชาวไร่อ้อยต้องเฝ้าระวัง คือ ด้วงหนวดยาวอ้อย ซึ่งตัวหนอนของด้วงหนวดยาวอ้อยจะเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่ระยะเริ่มปลูกอ้อย เจาะไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อยภายในท่อนพันธุ์ ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่งอก หน่ออ้อยอายุ 1–3 เดือน จะถูกกัดกินตรงส่วนโคนที่ติดกับเหง้าให้ขาดออก ทำให้หน่ออ้อยแห้งตาย เมื่ออ้อยมีลำแล้วการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาวอ้อยจะทำให้กาบใบและใบอ้อยแห้งตายทั้งต้นหรือทั้งกออ้อย หนอนที่มีขนาดเล็กจะกัดกินบริเวณเหง้าอ้อย ทำให้การส่งน้ำและอาหารจากรากไปสู่ลำต้นและใบน้อยลง เมื่อหนอนมีขนาดใหญ่ขึ้นจะเริ่มเจาะไชจากส่วนโคนลำต้นขึ้นไปกินเนื้ออ้อย ทำให้ลำต้นเป็นโพรงเหลือแต่เปลือก ลำต้นอ้อยหักล้มและแห้งตายในที่สุด
การป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อย สำหรับอ้อยปลูกใหม่ ให้ใช้วิธีผสมผสาน ได้แก่ วิธีกล ไถพรวนดินแล้วเก็บตัวหนอนและดักแด้ของด้วงหนวดยาวอ้อยตามรอยไถก่อนปลูกอ้อย และจับตัวเต็มวัยของด้วงหนวดยาวอ้อย หรือเดินเก็บในแปลงอ้อยช่วงพลบค่ำ การป้องกันกำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ ให้โรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่บนท่อนพันธุ์พร้อมปลูกแล้วกลบดิน ส่วนในพื้นที่ที่มีการระบาดของด้วงหนวดยาวอ้อยอย่างรุนแรงให้ป้องกันกำจัดด้วยสารเคมีตามคำแนะนำชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้ ชนิดน้ำ พ่นสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน ชนิดเม็ด โรยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 0.3% G อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน
สำหรับอ้อยในระยะอ้อยแตกกอ ถ้าพบหน่ออ้อยแห้งตาย ให้ขุดกออ้อยและจับตัวหนอนและดักแด้ของด้วงหนวดยาวอ้อยออกมาทำลายนอกแปลง เปิดร่องอ้อยแล้วโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน ในพื้นที่ที่มีการระบาดของด้วงหนวดยาวอ้อยอย่างรุนแรง ให้ป้องกันกำจัดด้วยสารเคมีตามคำแนะนำ สารเคมีชนิดน้ำ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วพ่นสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน หรือ สารเคมีชนิดเม็ด เปิดร่องอ้อยแล้วโรยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 0.3% G อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน
แมลงศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังในไร่อ้อยคือแมลงนูนหลวง โดยตัวหนอนของแมลงนูนหลวงเข้ากัดกินรากอ้อยเป็นอาหาร อาการเริ่มแรกของอ้อยที่ถูกทำลาย คือ ใบอ้อยมีสีเหลือง ต่อมาใบอ้อยจะแห้ตายมากผิดปกติ ในที่สุดอ้อยจะแห้งตายไปทั้งกอ กออ้อยที่ถูกหนอนเข้าทำลายจะดึงออกมาจากพื้นดินได้ง่าย เนื่องจากรากอ้อยถูกทำลายหมด การเข้าทำลายอ้อยจะปรากฏเป็นหย่อมไม่แพร่กระจายไปทั้งไร่ อ้อยกอใดที่ถูกหนอนของแมลงนูนหลวงเข้าทำลายเพียงหนึ่งตัวต่อกอจะทำให้อ้อยกอนั้นตายไปทั้งกอ หรือถ้าไม่ตายจะทำให้ผลผลิตของอ้อยลดลงจนเก็บผลผลิตไม่ได้
เนื่องจากแมลงนูนหลวงออกเป็นตัวเต็มวัยปีละครั้ง วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันกำจัด คือ การเก็บตัวเต็มวัยมาทำลายก่อนที่ตัวเต็มวัยจะไปวางไข่ โดยใช้ไม้ตีตามกิ่งไม้หรือปีนขึ้นไปเขย่าให้ตัวเต็มวัยตกลงมาในขณะผสมพันธุ์ และจับต่อเนื่องกันประมาณ 15-20 วัน หรือเวลาพลบค่ำเดินในแปลงจะพบดินเริ่มแตกแยกเหมือนกับจะมีเมล็ดพืชออกมานั่นคือแมลงนูนเริ่มจะขุดออกมาจากดิน ให้ขุดดินบริเวณที่มีรอยแตกจะได้แมลงนูนปริมาณมากวิธีนี้จะเป็นการช่วยลดประชากรของแมลงนูนหลวงได้มาก
สำหรับอ้อยปลูกใหม่ ทำการป้องกันกำจัดด้วยการไถพรวนดินหลาย ๆ ครั้ง เพื่อทำลายไข่ ตัวหนอน และดักแด้ที่อยู่ในดิน และเก็บตัวหนอน ดักแด้ของแมลงนูนหลวงตามรอยไถ ก่อนปลูกอ้อย จับตัวเต็มวัยของแมลงนูนหลวง ส่วนการป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี ควรจะใช้วิธีป้องกันจะให้ผลดีกว่าการกำจัด เพราะเมื่อหนอนโตแล้วการใช้สารฆ่าแมลงจะได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาใช้สารฆ่าแมลงที่เหมาะสม คือ ระยะหนอนเริ่มฟักออกจากไข่ ในอ้อยระยะแตกกอ การป้องกันกำจัดด้วยสารเคมีที่ใช้ได้ผล คือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้เปิดหน้าดินออกทั้งสองด้านของแถวอ้อย ห่างจากกออ้อยประมาณ 8 นิ้ว แล้วพ่นสารฆ่าแมลงไปตามร่องอ้อยที่เปิดหน้าดินออกเสร็จแล้วเอาดินกลบ หรือใช้เครื่องผ่าตอ แล้วใช้สารฆ่าแมลงพ่นลงไปในรอยผ่า