นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พร้อมด้วย ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ผ้าไหมบ้านหัวฝาย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรหม่อนไหมบ้านหวายหลืม ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายเพื่อให้ความรู้ และให้การสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ผ้าไหม พร้อมทั้งหาความเชื่อมโยงทางการตลาดระหว่างวิสาหกิจชุมชนฯ กับลูกค้าใหม่ และร่วมกันหาแนวทางการสร้างคุณค่าวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าต่อยอดทางธุรกิจเชิงพาณิชย์ระดับโลกตามนโยบายของ มทร.อีสาน โดยมี อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น พร้อมด้วยอาจารย์บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดี อาจารย์ประพันธ์ ยาวระ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม อาจารย์ ดร.อารีรัตน์ เชื้อบุญเกิดโนท คณบดีคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ อดีตรองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น รศ.ดร.วิเชียร แสงอรุณ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณาจารย์สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการบริการนำผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
ในการลงพื้นที่ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น ได้นำนายกสภา มทร.อีสาน และคณะเยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสำรวจความต้องการของวิสาหกิจชุมชนและสถานประกอบการ รับฟังข้อมูลการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปัญหาและอุปสรรคในการปลูกปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และสิ่งที่วิสาหกิจชุมชนรวมถึงผู้ประกอบการต้องการได้รับความร่วมมือและการส่งเสริม จาก มทร.อีสาน เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ จำนวน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ผ้าไหมบ้านหัวฝาย ต.ปอแดง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ผ้าไหมบ้านหัวฝาย ต.ปอแดง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น คุณบุญสิน ราษฎร์เจริญ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวฝาย เล่าถึงความเป็นมาพร้อมสาธิตขั้นตอนกระบวนการการผลิตผ้าไหมแบบครบวงจร โดยสมาชิกกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ผ้าไหมบ้านหัวฝาย มีสมาชิกกลุ่มและเครือข่ายผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดมากกว่า 100 ราย สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกสตรีเกษตรกรในชุมชน จากการออกแบบลายผ้า การมัดหมี่ การฟอกย้อม จนถึงกระบวนการทอผ้าไหมออกมาเป็นผืนด้วยลวดลายที่สวยงาม ผ้าไหมทอมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ผ้าไหมบ้านหัวฝาย นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนได้รับพระราชทานสัญลักษณ์นกยูงเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ทั้งนกยูงทอง นกยูงสีน้ำเงิน และนกยูงสีเงิน มีการทำ QR Code ข้อมูลสินค้าเพื่อรองรับการพัฒนากลุ่มลูกค้ายุคไทยแลนด์ 4.0
จากนั้น รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น ได้นำนายกสภา มทร.อีสาน พร้อมคณะลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรหม่อนไหมบ้านหวายหลืม ตำบลนาข่า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น โดยมีนางมาลัย ดำเนตร ประธานกลุ่มพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าครบวงจร นำชมการพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย เช่น สบู่ และเซรั่มบำรุงผิวหน้าที่สกัดจากโปรตีนไหม นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยสามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชน จากการลงพื้นที่ มทร.อีสาน พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทั้ง 2 กลุ่ม ได้ประสบความสำเร็จและสามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากไหมสู่ระดับสากลต่อไป