กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้านสู่นวัตกรรมการเติม น้ำบาดาลระดับตื้น 3 รูปแบบ ได้แก่ การเติมน้ำฝนผ่านบ่อวง เติมน้ำผ่านสระหรือคลองก้นรั่ว และเติมน้ำฝนผ่านหลังคาลงสู่บ่อน้ำบาดาลระดับตื้น ตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่นช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
จากการที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งเนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน หรือในฤดูฝนที่มีน้ำหลากก็เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำหลักของประเทศ บางครั้งทั้งปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยก็เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน เพียงแต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ประกอบกับในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาและขยายตัวของประชากรและชุมชนเพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต และน้ำบาดาลซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีการพัฒนาและสูบขึ้นมาใช้ประโยชน์จนทำให้บางพื้นที่เกิดวิกฤตเสียสมดุล เพราะมีการลดระดับของน้ำบาดาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องขุดเจาะบ่อลึกลงไปมากกว่าเดิมเพื่อที่จะสูบ น้ำบาดาลขึ้นมา เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย
รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำแผนที่เติมน้ำบาดาลทั่วประเทศ พร้อมเร่งดำเนินโครงการเติมน้ำลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินระดับตื้นเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลภายใน ฤดูฝนของปี 2560 นี้ โดยระบบเติมน้ำดังกล่าวจะดำเนินการใน 3 รูปแบบ ได้แก่ การเติมน้ำฝนผ่านบ่อวง เติมน้ำผ่านสระหรือคลองก้นรั่ว และเติมน้ำฝนผ่านหลังคาลงสู่บ่อน้ำบาดาลระดับตื้น ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมไว้แล้ว รวม 17 แห่ง ประกอบด้วย พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย สุพรรณบุรี นครสวรรค์ สระบุรี ขอนแก่น สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี จันทบุรี อุบลราชธานี สงขลา อุดรธานี 2 แห่ง และพิษณุโลก 4 แห่ง ใช้งบประมาณ 5.5 ล้านบาท และจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะผู้บริหารจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่เติมน้ำบาดาลระดับตื้น ณ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อชมการสาธิตระบบเติมน้ำผ่านบ่อวง (แก้มลิงที่มองไม่เห็น) ของปราชญ์ชาวบ้าน (นายทองปาน เผ่าโสภา) ที่บ้านหนองปลวก ตำบลหนองกุลา และชมจุดก่อสร้างระบบเติมน้ำบาดาลระดับตื้นผ่านบ่อทรายเก่า ที่บ้านคลองวัดไร่เหนือ ตำบลบางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง ใน 17 แห่ง ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลคัดเลือกที่จะจัดทำระบบเติมน้ำบาดาลระดับตื้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การเติมน้ำลงสู่ชั้นบาดาลแบบปราชญ์ชาวบ้านที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นเรื่องที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม คงจะต้องมีงานทางด้านวิชาการมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เนื่องจากน้ำใต้ดินกับบนผิวดินต้องมีความสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ หากหาวิธีการนำน้ำไปเก็บไว้ในชั้นน้ำตื้นมากได้เท่าไร พี่น้องประชาชนก็จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น