จากกรณีชาวบ้านกว่า 40 ราย แจ้งจับผู้บริหารสหกรณ์ฯ หลังออมเงินซื้อบ้านกับสหกรณ์ฯ ตั้งแต่ปี 2560 หมดเงินไปคนละหลายแสน แต่ทุกวันนี้ยังไม่ก่อสร้าง ล่าสุด กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 (สสพ.2) ได้จัดอบรมและแก้ไขปัญหาการจัดทำบัญชีและงบการเงินของสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงพร้อมใจพัฒนา จำกัด ในวันที่ 30 เม.ย. 2566 โดยขอใช้ที่ทำการสหกรณ์เคหสถานชุมชนป่ากล้วยพัฒนา จำกัด ในการจัดอบรมดังกล่าวปรากฏว่าได้มีชาวบ้านจำนวน 5 คน แจ้งว่าได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์เคหสถานฯ แต่ไม่ได้รับเงินคืน จึงมาขอเงินคืน โดยแจ้งว่า นางบี (นามสมมติ) นัดให้มารับเงินค่าหุ้น เงินออม และเงินต่างๆ ที่ส่งให้กับนางบี เพื่อจะซื้อที่อยู่อาศัยกับสหกรณ์เคหสถานฯ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า นางบี (นามสมมติ) นำชื่อสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงพร้อมใจพัฒนา จำกัด ไปแอบอ้างหลอกลวงประชาชน เนื่องจากสหกรณ์เคหสถานฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2562 แต่ นางบี ได้เก็บเงินค่าออมหุ้น ค่าที่ดิน ค่าบริหารจัดการ จากผู้เสียหายเป็นเงินคนละ 3,300 บาท ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันปี 2566 และจากการตรวจสอบชื่อผู้เสียหายที่มาร้องขอเงินคืน ไม่มีชื่อในทะเบียนสมาชิกสหกรณ์เคหสถานฯ แต่อย่างใด
ต่อมาวันที่ 28 พ.ค. 2566 สหกรณ์ฯ ได้จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามและรายงานผลการจัดทำบัญชีของสหกรณ์ฯ ซึ่งได้มีการรวมตัวผู้เสียหายจากการที่ นางบี นำชื่อสหกรณ์เคหสถานฯ ไปแอบอ้างจำนวน 41 ราย ผู้เสียหายได้มีการนำหลักฐาน และเอกสารการโอนเงิน ใบเสร็จรับเงิน ที่เป็นลายมือของ นางบี โดยได้มีการโอนเงินเข้าบัญชีนางบีตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันปี 2566 ในการโอนเงินแต่ละครั้ง นางบี จะออกใบเสร็จรับเงินในนามของสหกรณ์เคหสถานฯ ให้กับผู้เสียหายทุกคน และได้นำแบบบ้าน โฉนดที่ดิน ใบสำคัญรับจดทะเบียน ของสหกรณ์ฯ ไปแสดงให้กับผู้เสียหายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสหกรณ์ฯ มีตัวตนจริง รวมทั้งมีการตั้งกลุ่มไลน์ในการติดต่อประสานเรื่องต่างๆ ในกลุ่ม เพื่อให้ผู้เสียหายเกิดความหลงเชื่อ
ทั้งนี้ นางบี ไม่ได้เป็นคณะกรรมการ หรือสมาชิกของสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงพร้อมใจพัฒนา จำกัด แต่เป็นกรรมการของสหกรณ์เคหสถานชุมชนป่ากล้วยพัฒนา จำกัด และได้รับจ้างเขียนใบเสร็จรับเงินให้กับสหกรณ์เคหสถานฯ และเมื่อกลุ่มผู้เสียหายได้มาร้องเรียนในวันที่ 30 เม.ย. 2566 นางบี ได้หลบหนีออกจากชุมชนไป โดยมีกลุ่มผู้เสียหายจำนวน 41 ราย รวมค่าความเสียหายประมาณ 8,215,012 บาท ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เคหสถานฯ ได้ประชุมคณะกรรมการและมีมติแจ้งความเอาผิด นางบี ในการนำเอกสารของสหกรณ์ฯ ไปแอบอ้างให้กับชาวบ้านหลงเชื่อทำให้เกิดความเสียหาย โดยได้รับคำแนะนำจากสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 รวมทั้งที่ประชุมได้มีมติมอบให้ นางสมคิด สิงหนาท ประธานกรรมการสหกรณ์เคหสถานฯ และอดีตคณะกรรมการ เข้าดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับ นางสาวบี ในวันที่ 29 พ.ค. 2566 ที่ สน.ดอนเมือง เรียบร้อยแล้ว
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ กล่าวอีกว่า ถ้าหากสมาชิกสหกรณ์เกิดข้อสงสัยว่ามีการแอบอ้างชื่อสหกรณ์ฯ ในการเรียกเก็บเงินในกรณีต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามและตรวจสอบได้ที่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ.