นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ได้สรุปประเด็นงานเมืองด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 แห่งได้เปิดภาคเรียน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาเพราะจะเป็นรากฐานในการพัฒนาเมืองต่อไป โดยมีเรื่องหลักๆ ดังนี้
เรื่องแรกที่ กทม.กำลังทำคือ การคืนครูให้นักเรียน เนื่องจากปัญหางานด้านเอกสารที่ครูในโรงเรียนต้องใช้เวลากว่า 40% ในการทำงานด้านนี้ ผู้ว่าฯ กทม.จึงได้เร่งรัดให้จัดหาพนักงานธุรการทั่วไปและพนักงานการเงินและบัญชีมาช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านเอกสาร เพื่อให้ครูมีเวลาในการสอนอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้กำลังดำเนินการจ้างเจ้าพนักงานธุรการทั่วไปอีก 371 ตำแหน่งขณะเดียวกันก็เร่งรัดให้มีเปิดสอบข้าราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการในส่วนที่มีอัตราว่างอยู่ด้วย
กทม. ได้ให้ความสำคัญของการใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนรู้และส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนทุกคน จึงดำเนินการจัดหาคอมพิวเตอร์สำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ 598 ห้อง ใน 437 โรงเรียน กทม. โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกมีการส่งมอบแล้วเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 จำนวน 100 ห้องเรียน เฟส 2 จะดำเนินการส่งมอบ 200 ห้องในช่วงต้นเดือนมิถุนายน และเฟสที่ 3 ภายในเดือนกรกฎาคม 2566 จะมีการส่งมอบอีก 298 ห้องเรียน
นอกเหนือจากจะมีอาหารเช้าและอาหารกลางวัน โรงเรียนสังกัด กทม.ยังมีการเสริมโภชนาการให้กับเด็กๆ ตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องการปลูกฝังเรื่องการทานผักของเด็กๆ ซึ่งโรงเรียนได้เริ่มจัดสลัดบาร์ด้วยผักที่มีความหลากหลาย และค่อยๆ ปรับตามความต้องการของเด็ก สัปดาห์ละ 2 วัน ในมื้อเช้าและมื้อกลางวัน มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นมา และในปีการศึกษา 2566 นี้ได้เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 3 วัน ในมื้อเช้าและมื้อกลางวันเช่นกัน
การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศในโรงเรียน กทม.แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือประเภทโรงเรียน 2 ภาษา และโรงเรียนทั่วไป โดยโรงเรียน 2 ภาษา จะเป็นการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาต่างประเทศในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาตร์ ศิลปศึกษา สุขศึกษา และภาษาต่างประเทศ ปัจจุบันมีการเรียน 88 โรงเรียน แบ่งเป็น โรงเรียน 2 ภาษาอังกฤษ-ภาษาไทยจำนวน 74 โรงเรียน โรงเรียนภาษาจีน-ภาษาไทยอีก 14 โรงเรียน มีครูชาวต่างชาติที่ทำการสอนประมาณ 500 คน
ส่วนโรงเรียนทั่วไป กทม.ได้จัดให้มีการดำเนินการใน 5 วิชาภาษาต่างประเทศเพื่อเป็นตัวเลือกให้นักเรียน ได้แก่ ‘วิชาภาษาอังกฤษ’ มีทุกโรงเรียนเริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลเป็นต้นไป สอนโดยครูชาวต่างชาติ “วิชาภาษาจีน” มีทุกโรงเรียน โดยครูผู้สอนมีทั้งครูชาวไทยและชาวจีน ส่วนวิชาที่จะมีบุคลากรที่จบการศึกษาในวิชาเอกด้านภาษานั้นๆ เป็นผู้สอน ได้แก่ ‘วิชาภาษาอาหรับ’ มีการเรียนใน 71 โรงเรียน ‘วิชาภาษาญี่ปุ่น’ มีการเรียนใน 12 โรงเรียน และ “วิชาภาษามลายู’ มีการเรียนใน 7 โรงเรียน