ธ.ก.ส. ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สูงสุดร้อยละ 0.50 ต่อปีและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทร้อยละ 0.01 – 0.25 ต่อปี ตามมติ กนง. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 ต่อปีจาก ร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี
ธ.ก.ส. ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สูงสุดร้อยละ 0.50 ต่อปีและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทร้อยละ 0.01 – 0.25 ต่อปี ตามมติ กนง. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 ต่อปีจาก ร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยมีผลตั้งแต่ 6 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ ร้อยละ 1.75 ต่อปีมาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตลาด ธ.ก.ส. จึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินฝาก ร้อยละ 0.05 - 0.50 ต่อปีเพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มผลตอบแทนให้สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนของธนาคาร พาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ขณะเดียวกันได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ร้อยละ 0.10 – 0.25 ต่อปีประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) จากร้อยละ 6.875 ปรับขึ้น 0.10% เป็นร้อยละ 6.975 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี(MLR) จากร้อยละ 5.375 ปรับขึ้น 0.250 % เป็นร้อยละ 5.625 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี(MOR) จากร้อยละ 6.750 ปรับขึ้น 0.125 % เป็นร้อยละ 6.875 ต่อปี โดยมีผล ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมมาตรการดูแล และแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และสนับสนุนการฟื้นตัวในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการฟื้นฟูอาชีพ มาตรการจ่ายดอกตัดต้น และมาตรการจ่ายต้นปรับงวด การให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ทั้งในและนอกระบบ การสนับสนุนให้ลูกค้าบริหารจัดการหนี้ผ่านแนวทางมีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก พร้อมสร้างแรงจูงใจโดยคืนหรือลดอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ที่ชำระหนี้ ควบคู่กับการเติมทุนผ่านสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 และสินเชื่อ Green Credit อัตราดอกเบี้ย MLR/MRR เป็นต้น