กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จับมือ ภาคีเครือข่าย จัดการแถลงข่าว การจัดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2566 เพื่อเป็นการแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติก รวมถึงมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภายใต้แนวคิด “Beat Plastic Pollution รักษ์โลก ลดพลาสติก”
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ในแต่ละปี UNEP จะกำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก เน้นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติหรือน่าวิตก โดยในปี 2566 นี้ ได้มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ภายใต้แนวคิด “Beat Plastic Pollution” ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับ เมื่อปี 2561 แสดงให้เห็นว่า มลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติกนั้น เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการ ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ที่เป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทั้งในระดับพื้นที่และระดับองค์กร เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการขยะพลาสติก พร้อมยกระดับการจัดการให้สอดรับกับสภาพปัญหา นโยบายและแผนของประเทศ พันธกรณีระหว่างประเทศ และกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการลดปริมาณการใช้พลาสติกเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้นเช่น
- บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2022 สามารถลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก 35,237.12 ตัน/386,789.11 ตันคาร์บอน เท่ากับปลูกต้นไม้ 8,995,095 ต้น ลดปริมาณการสร้างขยะโดยการนำบรรจุุภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ (Recycle & Circular Economy) 11,276.51 ตัน/136,502.62 ตันคาร์บอน และมีเป้าหมาย 100% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้จะต้องสามารนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำมาใช้ใหม่ หรือสามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ สำหรับบริษัทที่มีการดำเนินงานในไทย ภายในปี 2025 และบริษัทที่ดำเนินงานในต่างประเทศ ภายในปี 2030
- บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด GREEN RETAIL แห่งแรกของประเทศไทย ตอกย้ำการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยนำร่องทดลองก่อนนโยบายภาครัฐ ในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก โดยปักธงวันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล ดีเดย์ เปิดตัวโครงการ เดอะมอลล์ กรุ๊ป โก กรีน (The Mall Group Go Green; Green Everyday) โดยประกาศตัวเป็นห้างสรรพสินค้ารายแรกที่งดบริการถุงพลาสติก ทั้งห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต และขานรับนโยบายภาครัฐงดบริการถุงพลาสติก “Everyday Say No to Plastic Bag” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
นอกจากนี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ปยังร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน ด้วยการเปิดตัวโครงการ “The Mall Group Go Green : Plastic Drop Point” จุดบริการนำขยะพลาสติกสะอาดกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการตั้งจุด “Plastic Drop Point” ที่เดอะมอลล์ ทุกสาขา ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และ พารากอนดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จากการรณรงค์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป สามารถลดการใช้ถุงได้ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านใบต่อปี พร้อมทั้งลงนาม MOU การจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน และในปี 2566 เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้พัฒนาตู้คัดแยกขยะเป็นนวัตกรรม Smart Bin เพื่อความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
- บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือเกรซ ห่วงใยโลก ใส่ใจคุณ นำเสนอบรรจุภัณฑ์จากเยื่อพืชธรรมชาติ 100% เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง โดยในปี 2022 เกรซ สามารถทดแทนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกได้กว่า 240 ล้านชิ้น สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก GHG Reduction 1.45 ล้าน kgCO2 เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 120,000 ต้น และคาดว่าในปี 2023 จะสามารถทดแทนการใช้พลาสติกได้เพิ่มขึ้นอีก 20 %
- Recycle Day Thailand เป็นองค์กรในการบริหารจัดการขยะรีไซเคิลทุกประเภท ทั้งกระดาษ กระป๋อง โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า แก้ว และพลาสติก นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน สามารถรวบรวมขยะรีไซเคิลประเภทพลาสติกกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 104,026.57 กิโลกรัม โดยเทียบเคียงการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นจำนวน 300,158.27 kgCO2eq เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 31,207 ต้น รวมถึงการรับน้ำมันที่ผ่านการปรุงอาหาร นำไปรีไซเคิลเป็นน้ำมันเครื่องบิน นอกจากนี้ รีไซเคิลเดย์ยังมีเป้าหมายในการรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นใหญ่และขยะอันตรายในลำดับต่อไป เพื่อเพิ่มช่องทางในการจัดการของเหลือใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับแนวทางการดำเนินงานในการจัดการขยะพลาสติกต่อไปนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วประเทศ เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก สร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ในบทบาทของผู้ผลิตพลาสติก เจ้าของแบรนด์ และผู้ค้าปลีก ให้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น นายจตุพร กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการขยะพลาสติกร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมรณรงค์ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก” ในตลาดสดเทศบาล กว่า 7,000 แห่ง สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟมบรรจุอาหาร ได้กว่า 3,414 ล้านใบ หรือประมาณ 9,824 ตัน กิจกรรมรณรงค์ “Everyday Say No To Plastic Bags” ร่วมกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – ธันวาคม 2565 สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว รวมทั้งสิ้น 14,349.6 ล้านใบ หรือ 81,531 ตัน
โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) รับบริจาคพลาสติกแข็งและพลาสติกยืด โดยตั้งจุดรับคืนพลาสติก (Drop Point) นำกลับไปรีไซเคิลหรือเพิ่มมูลค่ากลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Upcycling) สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกแบบบางในภาพรวม ลดลง 43% หรือ 148,699 ตัน รวมไปถึงโครงการมือวิเศษ x วน โครงการร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Coffee Shop) และโครงการอื่นๆ อีกมากที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน