“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) เปิดสถิตินักท่องเที่ยวช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ทั้งตลาดชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างรายได้รวมเกือบ 1 ล้านล้านบาท! มุ่งสู่เป้าหมายสิ้นปีนี้ มีรายได้รวม 2.4 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด-19 อุบัติ!
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า สถิติ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เดินทางเข้าประเทศไทยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. มีจำนวนสะสม 10,568,485 คน เฉพาะเดือน พ.ค. มีจำนวน 1,972,033 คน โดย 5 อันดับแรกคือ มาเลเซีย 338,692 คน จีน 285,333 คน อินเดีย 144,683 คน เกาหลีใต้ 102,471 คน และ สปป.ลาว 91,831 คน
ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปี 2566 ททท.ตั้งเป้าไว้ไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน สร้างรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทย ไม่น้อยกว่า 135 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศอยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทของปี 2562 ก่อนโควิดระบาด
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี 2566 ททท.คาดว่าจะสามารถผลักดันเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้ให้ได้อย่างน้อย 25 ล้านคน “ความท้าทาย” อยู่ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย (ต.ค.-ธ.ค.) ซึ่งต้องจับตาตลาด “นักท่องเที่ยวจีน” ว่าจะกลับมามากน้อยแค่ไหน เพราะตรงกับช่วงหยุดยาววันชาติจีน (1 ต.ค.) หากกลับมามาก ก็สามารถผลักดันจำนวนรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติไปถึงระดับ 28-30 ล้านคนได้
ด้านภาพรวมการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วง 5 เดือนแรก พบว่ามีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างชาติ “สร้างรายได้รวม 9.59 แสนล้านบาท” แบ่งเป็นผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 99 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 3.6 แสนล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10.56 ล้านคน สร้างรายได้ 5.9 แสนล้านบาท มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศ 70%
“จากข้อกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของตลาดเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ข้าวของแพงขึ้น รวมถึงคนไทยเลือกจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนใดน่ากังวลมากที่สุดนั้น ททท.มองว่าขณะนี้ทุกคนมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและตีความเฉพาะปัจเจกบุคคล ซึ่งอาจมีความเครียดเรื่องการเมืองและหันไปเที่ยวแทนก็ได้ เหมือนเวลาเกิดความเครียด คนก็ไปเที่ยว ทำงานหนักก็ไปเที่ยว ทำให้ในช่วงสุญญากาศทางการเมืองขณะนี้ คนเลือกไปเที่ยวก็มีเช่นกัน”
ในช่วงครึ่งปีหลัง ททท.มีแผนเปิดตัวโปรดักต์เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อเจาะ “ความเคลื่อนไหวของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน” (Sub-Culture Movement) เช่น เส้นทางตามรอย UFO ที่เขากะลา จ.นครสวรรค์ รวมถึงเส้นทางอื่นๆ อย่างเส้นทางสำหรับกลุ่มทาสรักน้องหมาน้องแมว เป็นต้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทำตลาดขายเส้นทางท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (ดูดาว) รองรับพฤติกรรมและความสนใจหลากหลายของนักท่องเที่ยว
ฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ททท.ยังคงเดินหน้าผนึกความร่วมมือกับ “พันธมิตร” ต่างๆ เพื่อโปรโมตภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจับมือกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย ครอบคลุมทั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรมทั่วประเทศ สร้าง “Sustainable Tourism Ecosystem” ชูจุดแข็งศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศเป็นเดสติเนชัน ทั้งจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลางทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพและยั่งยืน
พร้อมร่วมกันเปิดตัวแคมเปญ “เที่ยวไทยถึงถิ่น เที่ยวได้ทั้งปี” (GO LOCAL, LOVE LOCAL) เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ โดยใช้จุดแข็งในฐานะที่ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลพัฒนาเป็นศูนย์กลางของแต่ละเมืองและจังหวัด จับมือกับผู้ประกอบการ ชุมชน รวมถึงสตาร์ตอัปและบริษัทนำเที่ยว ร่วมกันออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว นำร่องเฟสแรก 4 จังหวัดใน “เมืองรอง” ได้แก่ “นครศรีธรรมราช” ดื่มด่ำเสน่ห์แห่ง ธรรมะ-ธรรมชาติ-วัฒนธรรม ที่ไม่ธรรมดา, “อยุธยา” ท่องเที่ยวกรุงเก่าด้วยมุมมองใหม่ได้อรรถรส, “อุบลราชธานี” สัมผัสเสน่ห์กับ 4 แสงแห่งดินแดนอีสานใต้ และ “จันทบุรี” อินและฟินกับเมืองท่องเที่ยวเนื้อหอมแห่งภาคตะวันออก
สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวของ 4 จังหวัดดังกล่าวในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ พบว่า 1.นครศรีธรรมราช มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 1.6 ล้านคน-ครั้ง แบ่งเป็นชาวไทย 1.6 ล้านคน-ครั้ง และชาวต่างชาติ 2.8 หมื่นคน สร้างรายได้ 6,700 ล้านบาท มีอัตราการเข้าพัก 71% 2.พระนครศรีอยุธยา มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 3.2 ล้านคน-ครั้ง แบ่งเป็นชาวไทย 2.3 ล้านคน-ครั้ง และชาวต่างชาติ 9.2 แสนคน สร้างรายได้ 7,700 ล้านบาท มีอัตราการเข้าพัก 70%
3.อุบลราชธานี มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 6.35 แสนคน-ครั้ง แบ่งเป็นชาวไทย 6.3 แสนคน-ครั้ง และชาวต่างชาติ 3,300 คน-ครั้ง สร้างรายได้ 1,700 ล้านบาท มีอัตราการเข้าพัก 57% และ 4.จันทบุรี จำนวนผู้เยี่ยมเยือน 2.1 ล้านคน-ครั้ง แบ่งเป็นชาวไทย 2 ล้านคน-ครั้ง และชาวต่างชาติ 1 แสนคน-ครั้ง สร้างรายได้ 7,800 ล้านบาท มีอัตราการเข้าพัก 58%
“ททท.เดินหน้ากระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรองอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายปรับสัดส่วนนักท่องเที่ยวเมืองรองและเมืองหลัก จากเดิมเมืองรองอยู่ที่ 10% เมืองหลัก 90% เปลี่ยนเป็นเมืองรองเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 20% เมืองหลักเหลือ 80% ภายในปี 2566 ซึ่งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ หากสามารถกระจายนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปในเมืองรองได้มากขึ้น เพราะมีทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวจริงๆ รวมถึงกลุ่มต่างชาติที่ทำงานในไทย และอาศัยอยู่ในไทยด้วย ผ่านการดึงจุดแข็งของเมืองรองให้เป็นจุดขาย”