สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ เปิดเมนูเด็ด แกงอ่อมไก่บ้านทุเรียนภูเขาไฟ, ยำมงกุฏราชินีผลไม้ และของหวานสุดฟิน กับข้าวเหนียวเปียกเงาะภูเขาไฟ มังคุด ทุเรียนภูเขาไฟ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ วันที่ 8 มิ.ย. 2566 ที่ โรงเรียนศรีอุดม ต.ตระกาจ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ โดย นายพงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ และคณะกรรมการบริหารสภาอุตฯ ร่วมกับ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ และปกครอง อ.กันทรลักษ์ ชาวสวนทุเรียนภูเขาไฟบ้านซำตารมย์ เปิดเมนูเด็ดที่ปรุงจากไม้ผลที่ปลูกจากดินภูเขาไฟศรีสะเกษ อันได้แก่ ทุเรียนภูเขาไฟ, มังคุดภูเขาไฟ และเงาะภูเขาไฟศรีสะเกษ ซึ่งวันนี้พบว่า ชาวสวนบ้านซำตารมย์ ต.ตระกาจ อ.กันทรลักษ์ เริ่มมีปัญหาในการปลูกทุเรียนจากดินภูเขาไฟ ในช่วงมีพายุฝนมาในระยะนี้ ทำให้ทุเรียนที่เริ่มแก่แต่ยังไม่สุกได้ที่ในการที่จะเก็บมาจำหน่าย ร่วงหล่น นำไปขายก็ไม่ได้เพราะทุเรียนยังอ่อนอยู่ จึงได้ขอความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ได้ประสานในการหาวิทยากรมาอบรมให้เกษตรกรชาวสวน ซึ่งวันนี้ได้มี ผศ.ดร.กิจติพงษ์ ประชาชิต อาจารย์จาก ม.ราชภัฏศรีสะเกษ แผนกศิลปะและการออกแบบ นางวาสิตา น้อยพรหม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว มาร่วมกับชาวสวนผลไม้ คิดดัดแปลงทำเมนูเด็ดจากผลไม้ที่ปลูกจากดินภูเขาไฟ โดยทำจากเมนูของชาวบ้านที่ทำอาหารกินกันประจำในครอบครัว มาดัดแปลงเป็นเมนูไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว และจำหน่ายทั่วไป แก้ปัญหาทุเรียนร่วงทิ้งไปเฉยๆ โดยได้เปิดเมนูเด็ด คือ แกงอ่อมไก่บ้านทุเรียนภูเขาไฟ, ยำมงกุฏราชินีผลไม้ และของหวานสุดฟิน กับข้าวเหนียวเปียกเงาะ มังคุด ทุเรียนภูเขาไฟ
โดยเมนูแรก แก่งอ่อมไก่บ้านทุเรียนภูเขาไฟ วัตถุดิบก็มีไก่บ้าน นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ พอคำ เตรียมเครื่องแกงอ่อมปกติแบบพื้นบ้าน ด้วยการตำพริก ใส่ตะไคร้ หอมแดง เกลือ นำมาลงหม้อเทไก่บ้านสับลงคั่วให้สุก ก่อนนำทุเรียนภูเขาไฟที่ยังไม่สุก แต่เริ่มแก่แล้ว มาสับเป็นชิ้นๆ นำลงหม้อคลุกเคล้าให้สุก เติมน้ำ และเติมน้ำปลาสุก รอให้เดือด เนื้อไก่นุ่ม เติมผักพื้นบ้านลงไปก่อนยกลง พร้อมตักเสิร์ฟร้อนๆ รับรองอร่อยได้กลิ่นทุเรียน
ส่วนเมนูยำมงกุฏราชินี ก็คือ ยำมังคุด ซึ่งถือว่าเป็นราชินีผลไม้ของไทย นำมังคุดมาผ่าเอาเนื้อออก แช่ลงไปในน้ำเกลือ เพื่อป้องกันเนื้อมังคุดเปลี่ยนเป็นสีดำ จากนั้นปรุงน้ำยำ ทั่วๆ ไป ให้ออก 3 รส คือเปรี้ยว หวาน และเผ็ดเล็กน้อย นำมายำเข้ากับเนื้อมังคุดที่แบ่งตำเบาๆ ไปส่วนหนึ่ง และนำเนื้อมังคุดอีกส่วนหนึ่งมาคลุกเคล้าให้เป็นยำ ก่อนนำกรอกลงในเปลือกมังคุดที่ก่อนหน้านี้แกะเนื้อออกไปยำ จัดจานให้สวยงาม นำมาทาน อร่อยมาก
สุดท้ายก็คือ เมนูของหวาน ข้าวเหนียวเปียกเงาะ โดยการนำข้าวเหนียวมาลงหม้อที่มีกะทิตั้งไฟอ่อนๆ รอ จนร้อนได้ที่ ค้นวนไปรอให้ข้าวเหนียวสุกก่อน ค่อยนำเนื้อทุเรียนภูเขาไฟที่แก่แกะออกจากลูกแล้ว นำเนื้อทุเรียนมาหั่นเป็นชิ้นๆ ให้พอดี พร้อมกับ เนื้อเงาะที่แกะออกจากลูกและแกะออกจากเม็ดแล้วเนื้อแต่เนื้อเงาะ มาฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ มาลงหม้อกับเนื้อมังคุด เติมน้ำตาลเล็กน้อย และเกลือเพื่อตัดหวานบ้าง จากนั้นรอให้ข้าวเหนียวสุกเหนียวพอดีแล้ว ยกลงจากเตา มาตักแจกทานได้ เป็นของหวานที่ไม่หวานมาก ทานได้ทุกเพศทุกวัย และดีต่อสุขภาพ เพราะได้ทั้งกะทิ และผลไม้ 3 อย่าง ที่ปลูกจากดินภูเขาไฟศรีสะเกษ และเมนูของหวานอีกอย่างก็คือ บวดทุเรียนภูเขาไฟ ฟินมากขอบอก
โดย นายสุกิจ เหลือสกุลไทย นายอำเภอกันทรลักษ์ ที่ได้เดินทางมาร่วมชมการอบรมเรื่องการทำอาหารเมนูเด็ดจากผลไม้ที่ปลูกจากดินภูเขาไฟศรีสะเกษ ได้ทดลองชิมเมนูเด็ดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดศรีสะเกษ ของชุมชนท่องเที่ยวบ้านซำตารมย์ ก็ยอมรับว่า ทำออกมาได้อร่อยมาก แม้จะเป็นครั้งแรก และขอขอบคุณสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ, สภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ และชาวสวนผลไม้บ้านซำตารมย์ ที่ได้ช่วยกันรังสรรค์เมนูเด็ดจากผลไม้ออกได้อร่อยเช่นนี้
ในการนี้ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบเงินสนับสนุน จำนวน 10,000 บาท ให้แก่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อสนับสนุนในการจัดอบรมทำเมนูอาหารในครั้งนี้.
ณัฐธรชนม์ สิริโชติสกุล / ศรีสะเกษ