นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุน “ผ้าไหมไทยร่วมสมัย” ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่น มุ่งเน้นการพัฒนาเทคนิคการผลิตผ้าไหมรูปแบบใหม่ ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ และวัยทำงาน สร้างภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์มีความหรูหราและคุณภาพสูง มีลวดลายที่ประณีตสวยงาม พร้อมผลักดันให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) กระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมืองให้เติบโตและเข้มแข็ง ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่น โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 – 2565 ซึ่งเกิดผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายใหม่กว่า 122 ลาย รวมทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ (Accessories) อีกกว่า 108 ผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาด และขยายกลุ่มตลาดใหม่ ทั้งนี้ยังมีการพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหม และผู้ที่เกี่ยวข้องธุรกิจผ้าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 1,618 คน เพื่อสร้างรายได้ สร้างงานให้ชุมชน รวมถึงสร้างโอกาสทางการตลาด และยอดขายในประเทศกว่า 6,635,456 บาท (เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาใหม่)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่าปี 2566 โครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk) เป็นความร่วมมือของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู สุรินทร์ ขอนแก่น และนครราชสีมา มุ่งเน้นการพัฒนาเทคนิคการผลิตผ้าไหมในรูปแบบใหม่ ให้กับผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมขิด ผ้าไหมยกดอก ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมบาติก และผ้าไหมแต้ม ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์มีความหรูหราและคุณภาพสูง (Premium & High Quality) มีลวดลายที่ประณีตสวยงาม สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอัตลักษณ์ การจดจำผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักระดับสากล พร้อมยกระดับการผลิตจากชุมชนหรือ Local สู่ภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงในปี 2566 กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้จำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นการออกแบบและผลิตผ้าไหมไทยร่วมสมัยแบบใหม่ ผสมผสานการใช้ทุนวัฒนธรรมและแนวโน้มของตลาด ให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน และขยายตลาดต่างประเทศไปสู่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิตาลี
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และผ้าไหมพื้นเมือง ได้แก่
จังหวัดขอนแก่น : กลุ่มผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองหญ้าปล้อง (ผ้าไหมอีรี่มัดหมี่) วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย (ผ้าไหมแต้ม)
จังหวัดนครราชสีมา : กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ (ผ้าไหมมัดหมี่)
จังหวัดหนองบัวลำภู : กลุ่มทอผ้าแม่เอื้อมคำ by เมเม่ (ผ้าไหมขิด)
จังหวัดกาฬสินธุ์ : กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านโพนแพรวา (ผ้าไหมแพรวา)
จังหวัดสุรินทร์ : กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายยกดอกบ้านดู่นาหนองไผ่ และกลุ่มจันทร์หอม (ผ้าไหมยกดอก)
“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการดำเนินการของโครงการดังกล่าว เชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนา เพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ รวมทั้งส่งเสริมให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ และตลาดต่างประเทศในระดับพรีเมี่ยม ทั้งนี้ เชื่อมั่นในศักยภาพสินค้า Soft Power ของไทย ผ่านการสร้างและนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยลงบนผืนผ้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการไทย และสินค้าไทย ในการขยายโอกาสทางการตลาด” นายอนุชาฯ กล่าว