จากการที่สาธารณรัฐประชาชนจีน มุ่งผลักดันนโยบาย Belt and Road หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ โดยเร่งลงทุนและพัฒนาเส้นทางคมนาคม-ขนส่ง เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศไทย ขณะที่ประเทศไทยเองก็ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา เพื่อก้าวไปสู่การเป็น “ไทยแลนด์ 4.0”
ทำให้เกิดคำถามมากมายว่ายุทธศาสตร์ทั้งสองนี้จะเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “Thailand 4.0 ยุทธศาสตร์เชื่อมต่อ Belt and Road” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ณ ห้องซาลอน B โรงแรมสวีสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยมีวิทยากรผู้ร่วมบรรยายประกอบด้วย นางหยัง หยัง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัคราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย, นางหลี่ อยี้ ผู้จัดการทั่วไป ซินหัว ซิลด์โรด, นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทย-จีน, นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, รศ. พ.ต.ต. ดร. ดนุวสิน เจริญ รองคณะบดี ฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัญฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า, รศ.ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนไทย-จีน จำนวนมาก
นางหยัง หยัง กล่าวในตอนหนึ่งว่านโยบาย Belt and Road มุ่งขยายความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ในโลก โดยทุกประเทศที่มีเส้นทางเชื่อมต่อถึงกันจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ในด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากขณะนี้ประเทศจีนนั้นได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและเทคโนโลยีจนก้าวหน้าไปอย่างมาก ประเทศจีนก็พร้อมที่จะเข้าไปให้ความร่วมมือและช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทาง“เบ้ลล์ แอนด์ โร๊ด” ทั้งเรื่องการค้า การลงทุน และการแบ่งปันเทคโนโลยีด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในอันที่จะก้าวไปสู่การเป็น Thailand 4.0 ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม รวมถึงจะเกิดประโยชน์ต่อการลงทุนการค้า การตลาดของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
ขณะที่ นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี กล่าวว่า การที่ประเทศจีนมุ่งมั่นเดินหน้าโครงการ Belt and Road ซึ่งบางส่วนเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเทศไทยจะได้มีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน อีกทั้งการแบ่งปันความรู้และความร่วมมือต่างๆ ระหว่างไทย-จีน จะมีผลต่อยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ของเราเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาของประเทศเราก็คือความไม่แน่นอนทางการเมือง จากการที่ต้องเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ทำให้นโยบายบางอย่างขาดความต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้ก็ต้องฝากอนาคตไว้กับแผนยุทธศาสตร์ชาติและรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองต่อจากรัฐบาลชุดนี้
“สิ่งที่ยังเป็นห่วงและฝากไว้ก็คือ ภาครัฐเองก็จะต้องเร่งทำความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในเรื่องยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจ และมองภาพไม่ชัดเจนว่า เราจะขับเคลื่อนไปได้อย่างไร อย่างมีทิศทางและเป้าหมายในทางปฏิบัติ
ทางด้าน นางสาวนวลน้อย ตรีรัตน์ ได้นำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจว่า เราต้องมองให้ออกว่ายุทธศาสตร์ Belt and Road ของประเทศจีนนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรให้กับประเทศของเราบ้าง และมันจะมาเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ของเราได้อย่างไร เพราะจากที่ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักธุรกิจในประเทศจีน พบว่าในเรื่อง Belt and Road นั้น พวกเขามีความเข้าใจและเอาจริงเอาจังมาก ขณะที่ของเราเองยังมองอะไรไม่ชัด
“โดยเฉพาะเรื่อง Thailand 4.0 ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ามันค่อนข้างมีความซับซ้อน และไม่เข้าใจว่าจะเดินหน้าไปต่ออย่างไร และมันจะพลิกโฉมหน้าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเราได้อย่างไร คนกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์ จะมีใครบ้างที่จะมาร่วมลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้กับเรา ภาพเหล่านี้ต้องชัดเจน รัฐบาลต้องมีแผนและสร้างความร่วมมือร่วมกันอย่างมีทิศทาง ประชาชนทั้งประเทศต้องรับรู้ ประการสำคัญคือต้องถามว่าการขับเคลื่อน Belt and Road ของประเทศจีนมีประเด็นทางการเมือง หรือมีความจริงใจกับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน และประพเทศไทยเองก็มีความพร้อมในการเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหนด้วย” นางสาวนวลน้อย กล่าว