ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
ลพบุรีสร้างความรู้การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างเป็นรูปธรรม
20 มิ.ย. 2566

ผู้ว่าฯ ลพบุรี ชื่นชม อำเภอพัฒนานิคม บรรลุเป้าหมาย 100% ตามโครงการ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" จำนวน 100 แห่ง พร้อมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้เกิดการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างเป็นรูปธรรม
 นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในพิธีปิดโครงการ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" บรรลุเป้าหมาย 100 แห่ง 100% ณ บริเวณพื้นที่หมู่ 4 ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี พร้อมนำขบวนจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน โดยได้รับเมตตาจากพระครูภัทรธรรมคุณ เจ้าคณะอำเภอพัฒนานิคม และคณะหัวหน้าส่วนราชการประกอบด้วย ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว ปลัดจังหวัดลพบุรี ดร.รัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอพัฒนานิคม ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู นักเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม

นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสที่คณะผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2548 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “… งานที่ทำนั้นถ้าเรียกโดยสรุปตามภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่ที่จริงก็คือให้คนทั้งหลายได้มีโอกาสเจริญเติบโต มีชีวิตที่มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งร่างกาย และจิตใจ ได้รับการศึกษา ฝึกอบรมสั่งสอน เพื่อให้มีความรู้และพัฒนาความสามารถ ทั้งคุณงามความดีที่จะปฏิบัติงานเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อญาติพี่น้อง ครอบครัว และต่อสังคม ตลอดจนถึงประเทศชาติหรือทั้งโลก ถือว่านี่คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ …” โครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยพัฒนาคน ให้คนไปพัฒนาพื้นที่ โดยเริ่มจากปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต คือ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อทำให้คนในชุมชนได้มีรากฐานการใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง และสามารถเจริญเติบโตได้ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ และขยายผลไปสู่ระดับชุมชน หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด และประเทศ ตามลำดับ

อำเภอพัฒนานิคม นำโดยหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้น้อมนำโครงการฯ ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกหมู่บ้านจำนวน 89 หมู่บ้าน และทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 11 แห่ง รวม 100 แห่ง ได้ดำเนินการ โครงการ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2566 สร้างอาหารให้ชุมชนนำพืชไปปลูกริมถนนและที่สาธารณะในหมู่บ้าน ให้คนในชุมชนร่วมกันดูแล เมื่อมีผลผลิตสามารถแบ่งปันเพื่อการบริโภคในชุมชน สู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ให้มีความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นการสร้างความมั่นคงภายในประเทศอีกประการหนึ่ง” ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวเน้นย้ำ

นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืน ซึ่งต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566 โดยน้อมนำแนวพระดำริ เรื่อง "หมู่บ้านยั่งยืน" (Sustainable Village) มาขับเคลื่อนส่งเสริม ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง โครงการทางนี้มี ผลผู้คนรักกัน รวมถึงโครงการในพระดำริของพระองค์ โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาประยุกต์ใช้สู่วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การรู้จักการคัดแยกขยะ การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในครัวเรือน การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในทุกระดับ โดยใช้กลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน หลักการทำงาน “บวร” (บ้าน/วัด/ราชการ) “บรม” (บ้าน/ราชการ/มัสยิด) “ครบ” (โบสถ์คริสต์/ราชการ/บ้าน) บูรณาการการทำงานร่วมกันสู่ "หมู่บ้านยั่งยืน" เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมในทุกมิติ

นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในโอกาสเดียวกันกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืนร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ประกอบกับทุกจังหวัดได้ประกาศเจตนารมณ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ภายใต้แนวคิด "อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน" (Soils, where food begins) เนื่องในโอกาสวันดินโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี โดยกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2566 เป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้ (Awareness months) เพื่อแสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการขยายผลการสร้างความยั่งยืนเชิงประจักษ์ อันเป็นการสร้างรากฐานด้านความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ ซึ่งทางอำเภอพัฒนานิคม ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินขึ้น เพื่อให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม และในพื้นที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินอีกด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...